รัฐสภา 15 ก.ค.-“เทพไท” รุก ป.ป.ส. หนุนเพิ่มพื้นที่ปลูกกระท่อม ตำหนิการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซด์ ขอตั้งเวทีประชาพิจารณ์ด้วยตนเอง
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ออกมาชี้แจงถึงขั้นตอนการอนุญาตให้ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน นำร่องปลูก-เสพ-ครอบครองพืชกระท่อม ไม่ผิดกฎหมาย ว่า การกำหนดพื้นที่ 135 ชุมชน/หมู่บ้าน 10 อำเภอ 10 จังหวัดนั้น ไม่ตอบโจทย์พื้นที่ปลูกพืชกระท่อมที่แท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วย อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด จัดเป็นแหล่งกำเนิดพืชกระท่อมมาตั้งแต่สมัยโบราณ น่าจะได้รับการอนุญาตให้ปลูกพืชกระท่อม บริโภค ครอบครอง เป็นพื้นที่นำร่อง ตามแนวทางของสำนักงาน ป.ป.ส. แต่เมื่อสำนักงาน ป.ป.ส.ได้กำหนดพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว การเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงาน ป.ป.ส.เพิ่มเติมได้นั้น เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับประชาชนทั่วไป จึงขอเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ส.เพิ่มพื้นที่นำร่องเพื่อปลูกพืชกระท่อมในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอปากพนัง ,หัวไทร,เชียรใหญ่,ชะอวด,จุฬาภรณ์,ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ และพระพรหม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโครงการปลูกพืชกระท่อมของสำนักงาน ป.ป.ส.โดยไม่ผิดกฎหมาย
ส่วนการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในเรื่องการปลดล็อกพืชกระท่อมผ่านเว็บไซต์นั้น นายเทพไท กล่าวว่า เป็นเรื่องยุ่งยากที่ประชาชนผู้บริโภคพืชกระท่อม ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา คนรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงระบบสมาร์ทโฟน หรือเว็บไซต์ได้ ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมาธิการปลดล็อกพืชกระท่อม ที่ตนเป็นประธาน จะลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชน และแจกเสื้อยืดการรณรงค์ปลดล็อกพืชกระท่อมให้แก่ผู้ร่วมเวทีประชาพิจารณ์ทุกคน ในวันที่ 8-10 สิงหาคมนี้ เพื่อนำข้อมูลจากประชาชนผู้บริโภคพืชกระท่อมเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา กัญชา กันชง และพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ และเป็นข้อมูลในการประกอบการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี 2522 ต่อไป
นายเทพไท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะขอเสนอเปลี่ยนแปลงถ้อยคำใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 จากคำว่า “เสพพืชกระท่อม” เป็น “บริโภคพืชกระท่อม” แทน เพราะเมื่อพืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว และในขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเห็นว่าเมื่อพืชกระท่อมจะไม่เป็นพืชเสพติดอีกต่อไป จึงไม่ควรใช้คำว่าเสพพืชกระท่อม เหมือนกับการเสพยาเสพติดชนิดอื่น ๆ อีกต่อไป.-สำนักข่าวไทย