สุราษฎร์ธานี 10 ก.ค. – รมช. มนัญญา ตรวจเยี่ยมศูนย์ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชสุราษฎร์ธานี ชมความก้าวหน้าเครื่องมือเก็บมะพร้าวที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาขึ้น คือ เครื่องปีนมะพร้าวและไม้สอย ยืนยันผลผลิตมะพร้าวที่เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออก เก็บด้วยแรงงานคนโดยใช้เครื่องมือช่วย ย้ำเกษตรกรเลี้ยงลิงเหมือนสัตว์เลี้ยง ไม่ได้ใช้แรงงานเยี่ยงทาสตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์กล่าวหา
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเขตที่ 7 ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชมการสาธิตการเก็บมะพร้าวด้วยเครื่องปีนมะพร้าวซึ่งกรมวิชาการเกษตรพัฒนาขึ้น โดยเป็นอุปกรณ์ขาเหยียบไต่ต้นมะพร้าวที่ต้องใช้คู่กันทั้งซ้าย-ขวา มีแท่นเหยียบขนาด 13×15 ซม. ทำจากเหล็กเหนียว เชื่อมไว้กับรางเลื่อนเหล็กกลม 4 ชิ้น ส่วนวิธีเก็บมะพร้าวแบบพื้นบ้าน คือ การใช้ไม้สอยซึ่งมีตะขอติดอยู่กับไม้ไผ่ ใช้เกี่ยวทะลายมะพร้าว ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวมะพร้าวในปัจจุบันมีเครื่องมือที่พัฒนาเพื่อให้คนเก็บมะพร้าวได้เร็วขึ้น ส่วนการใช้ลิงนั้นมีน้อยมากเนื่องจากการฝึกลิงมีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่เป็นที่นิยม ในภาคใต้ยังมีการเลี้ยงลิงกังตามที่สืบทอดมาแต่ในอดีต แต่ได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้เลี้ยง ไม่มีการทารุณกรรมแต่อย่างใด
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชสุราษฎร์ธานีได้ทำโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตมะพร้าวใหญ่เกาะพงันอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการผลิตมะพร้าวบนเกาะพงันให้เป็นแบบอินทรีย์ให้ได้ 1,500 ไร่ในพ.ศ. 2564 โดยกรมวิชาการเกษตรเผยแพร่การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวโดยใช้แตนเบียนและออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และออร์แกนนิกให้แก่สวน ส่วนศูนย์รวบรวมผลผลิต ออกใบรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความมั่นใจแก่คู่ค้าในประเทศต่างๆ ที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากมะพร้าวของไทย
จากนั้นได้มอบต้นพันธุ์มะพร้าวให้เกษตรกร คือ พันธุ์ใหญ่เกาะพงันหรือเพชรพงันซึ่งเป็นพืชสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผลทรงกลมรียาว เปลือกและเส้นในมีความเหนียว กะลาสีน้ำตาลแก่ เนื้อมะพร้าวขาวใสและแน่น เนื้อเป็น 2 ชั้น รสชาติหวานมัน ไม่มีกลิ่นหืน มีปริมาณความเข้มข้นของกะทิ และปริมาณน้ำมันสูงซึ่งการเพาะปลูกมะพร้าวบนเกาะพงันมีมานานกว่าสองร้อยปี ลักษณะพิเศษของมะพร้าวพันธุ์นี้เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่อยู่บนเกาะและพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ลูกผสมที่พัฒนาขึ้นใหม่อีกหลายพันธุ์
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวของไทยสวนทางกับความต้องการคือ ปริมาณผลผลิตภายในประเทศผลิตได้น้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งความต้องการในการบริโภคทั้งตลาดต่างประเทศ และภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากปริมาณ และมูลค่าการส่งออกในปี 2560 ปริมาณ 1,057,107 ตัน มูลค่า 16,155 ล้านบาท ในขณะที่ ปี 2562 มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 1,167,176 ตัน มูลค่า 16,477 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ลดการนำเข้า และขยายตลาดส่งออกโดยเน้นสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อความมั่นคงยั่งยืนของเกษตรกรไทย . – สำนักข่าวไทย