ประจวบคีรีขันธ์ 5 ก.ค.-ยืนยันการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวสวนไทยที่ทำมาตั้งแต่ในอดีต ไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์อย่างที่ห้างต่างประเทศใช้อ้างเป็นเหตุผลในการแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย
จากกรณีห้างสรรพสินค้าบางแห่งในประเทศอังกฤษแบนกะทิไทยและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย โดยอ้างเหตุผลมีการใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว อันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ( อนุ กมธ.) ศึกษาและแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อปี 2562 อนุ กมธ.ได้แจ้งให้ตัวแทนผู้ประกอบการโรงงานกะทิส่งออกชี้แจงข้อเท็จจริงให้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ในต่างประเทศที่ทำการทักท้วงให้รับทราบ หลังจากเกรงว่าจะมีปัญหาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปไปสหภาพยุโรป(อียู)
นอกจากนี้ อนุ กมธ.ยังได้แจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือในฐานะหน่วยงานราชการชี้แจงปัญหาจากการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมตั้งแต่อดีตของชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์ตามที่มีการทักท้วง
ด้าน พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม หรือสารวัตรเอก รอง ผกก.สส.สภ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีอาชีพเสริมโดยการปลูกสวนมะพร้าว 16 ไร่ ที่ ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน การเก็บผลมะพร้าวจะจ้างผู้ที่เลี้ยงลิงกังในพื้นที่มาเก็บทุก 45 วัน โดยลิงกังที่ผ่านการฝึกอย่างดีจะขึ้นไปเก็บมะพร้าวในช่วงเช้าและช่วงเย็น และเก็บมะพร้าวเฉพาะผลแก่เท่านั้น โดยเจ้าของลิงกังคิดค่าเก็บร้อยละ 10-12 จากราคาขายผลผลิตปัจจุบัน
ยืนยันว่าเจ้าของสวนมะพร้าวที่ อ.บางสะพาน ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เนื่องจากการจ้างคนสอยจะคิดค่าตอบแทนคงที่ผลละ 1 บาท ไม่ได้คำนึงถึงราคาผลผลิตในบางฤดูกาล และบางครั้งมีความผิดพลาดจากการสอยมะพร้าวทะลายอ่อน
“ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวไม่ได้เข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ เนื่องจากเจ้าของจะเลี้ยงกระทั่งลิงกังเชื่อง เชื่อฟังคำสั่ง และไม่ได้ใช้งานทั้งวัน โดยให้กินข้าวตามปกติ”เจ้าของสวนมะพร้าว กล่าว.-สำนักข่าวไทย