กทม. 29 มิ.ย. – ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร มีข้อกำหนดเรื่องการขออนุญาตเพื่อขอรับบริจาค ทำให้เกิดคำถามว่าการโพสต์รับบริจาคผ่านออนไลน์ของ “ณอน บูรณะหิรัญ” ทำได้หรือไม่ ขณะที่กรมการปกครองมีแนวคิดจะยกร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่ หลังใช้มานาน 76 ปี
หลังเกิดดราม่ากรณีเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยดับไฟป่าที่เชียงใหม่ ของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ไลฟ์โค้ช หรือนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ แต่กลับมีข้อมูลจากเพจดังระบุว่าเจ้าหน้าที่บอกยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ พร้อมทวงถามเงินบริจาคหายไปไหน “ฌอน” ออกมาโพสต์ชี้แจงอีกครั้ง และยังบอกอีกว่าแสดงหลักฐานต่อตำรวจภูธรภาค 5 แล้ว แต่ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตโพสต์ชี้แจงนี้ยังไม่มีเรื่องการช่วยเหลือดับไฟป่า แต่กลับมีงบโปรโมทเพจ 250,000 บาท
ยังไม่จบแค่นี้ เมื่อนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ระบุว่า “ฌอน บูรณะหิรัญ” ไม่ได้ยื่นขออนุญาตทำการเรี่ยไร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร มีโทษปรับ เตรียมทำหนังสือให้เข้าชี้แจง ส่วนจะมีความผิดอื่นหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการชี้แจง
ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดีการรับบริจาค ระบุว่าตามกฎหมาย หากเป็นการเรี่ยไรในถนนหลวงหรือที่สาธารณะ โฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์/วิทยุ กระจายเสียง หรือด้วยเครื่องเปล่งเสียง จำเป็นต้องขอนุญาต แต่การโพสต์รับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ไม่เข้าข่าย จึงไม่มีความผิด ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดรับบริจาคออนไลน์หลายกรณี เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม คนยากจน คนเจ็บป่วย แต่กรณี “ณอน บูรณะหิรัญ” หากพบว่ามีการนำเงินไปใช้ผิดวัตุประสงค์ อาจเข้าข่ายผิดฐานฉ้อโกงประชาน หรือ ผิด พ.ร.บคอมพิวเตอร์ ได้ ซึ่งมีโทษสูงกว่า พ.ร.บ.เรี่ยไร
หนึ่งในบุคคลที่มีการโพสต์เปิดรับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์ และเป็นที่รู้จักกันดีในด้านช่วยเหลือสังคม คือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อครั้งน้ำท่วมอุบลราชธานี ที่มียอดบริจาคหลายร้อยล้าน เขาบอกว่าเงินบริจาคไม่ว่าจะเป็นในโครงการใด มีการทำแผนรายรับรายจ่ายชัดเจน ตามวัตถุประสงค์ที่มีการรับบริจาค สามารถตรวจสอบได้ ไม่เคยนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ส่วนเงินบริจาคน้ำท่วมอุบลฯ หลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้วยังเหลือเงินอีก 100 ล้านบาท ก็นำไปบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งได้จัดทำรายละเอียดรายได้และการใช้จ่ายทั้งหมดยื่นให้กรมสรรพากรไปแล้ว
ประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น ทำให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นกรมการปกครองตรวจสอบการใช้เงินบริจาคของ “ณอน บูรณะหิรัญ” ขณะที่อธิบดีกรมการปกครอง รับจะตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมระบุมีแนวคิดจะยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไรใหม่ ให้มีความทันสมัย เพราะกฎหมายฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2487 ที่ยังไม่มีโทรทัศน์ และยังไม่เคยมีการแก้ไข จนถูกเรียกว่ากฎหมายล้าหลัง. – สำนักข่าวไทย