สำนักงานป.ป.ช. 29 มิ.ย.- ป.ป.ช.แจงการส่งสำนวนคดีอาญาให้พนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวน ดำเนินการชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชี้เรื่องที่ส่งเป็นเรื่องวินัยไม่ร้ายแรง ที่ผ่านมามีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับเรื่องที่ ป.ป.ช.รับไว้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีสมาคมพนักงานสอบสวน (สพส.) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและสืบสวนข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งมอบสำนวนคดีอาญาจำนวนมากไปยังพนักงานสอบสวนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทำการสอบสวน โดยอาศัยการใช้ดุลพินิจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยสมาคมพนักงานสอบสวนเห็นว่า การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากทำการสอบสวนไปโดยมิชอบ พนักงานอัยการจะไม่มีอำนาจฟ้อง สร้างความเสียหายต่อการอำนวยความยุติธรรมของประเทศ
นายนิวัติไชย กล่าวว่า การมอบหมายเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 234 วรรคสอง และพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2561 ได้กำหนดนิยามคำว่า พนักงานสอบสวนหมายความว่า พนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษด้วย และยังคงบัญญัติในมาตรา 61 วรรคสอง ว่าในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวนแม้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงที่เป็นการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน
และมาตรา 63 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้ ทั้งนี้การมอบหมายเป็นหลักการที่มีมาแต่เดิม และที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากปริมาณเรื่องร้องเรียนกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการจำนวนประมาณ 19,000 เรื่อง ได้มีการมอบหมายเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ จำนวนประมาณ 1,600 เรื่อง ซึ่งมีจำนวนน้อยและล้วนเป็นเรื่องความผิดที่มีลักษณะไม่ร้ายแรงเท่านั้น อีกทั้ง ยังคงเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการกำกับติดตามเรื่องดังนั้นการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย