ทำเนียบฯ 29 มิ.ย.- “อนุทิน” เผยยังไม่หารือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในที่ประชุม ศบค. ย้ำการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ลิดรอนสิทธิประชาชน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการจับคู่ประเทศเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆ กัน หรือ travel bubble ว่า เอกอัครราชทูตหลายประเทศ ได้ติดต่อเข้ามา แต่ต้องรอนโยบายจาก ศบค.ในหลักการ แต่ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งต้องมีมาตรการให้เกิดความมั่นใจ ความปลอดภัย ทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาและคนไทยที่จะเดินทางออกไปประเทศคู่สัญญา รวมทั้งคนในประเทศก็ต้องปลอดภัยด้วย ต้องกำหนดเกณฑ์การพิจารณา โดยกรมควบคุมโรคและกระทรวงต่างประเทศ จะหารือกันในที่ประชุม ศบค.
เมื่อถามว่านักธุรกิจที่เดินทางเข้ามา จะมีเกณฑ์พิจารณาอย่างไรว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงๆ จะแบ่งแยกชนิดธุรกิจหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่สามารถแบ่งแยกธุรกิจได้ แต่จะพิจารณาจากนักธุรกิจที่ติดต่อกับประเทศไทย ซึ่งจะเน้นเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ วิศวกร ช่างเทคนิคต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาช่วย ยังไม่รวมนักท่องเที่ยว ทั่วไป
ต่อข้อถามว่าหากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีแนวโน้มจะนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แทน จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายก่อนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องแจ้งมาว่ามีประเด็นที่ต้องปรับแก้กฎหมายใด ปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รายงาน เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีอำนาจในระดับหนึ่ง เมื่อเจอโรคระบาด ต้องรวบรวมสรรพกำลังอาจต้องมีฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคงร่วมด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นประโยชน์มากกว่า เหมือนกับประเทศมหาอำนาจ เมื่อมีการแพร่ระบาดมาก ก็ต้องใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของประเทศไทย เอามาต่อสู้กับโรค ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถ้ามีการแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ต้องเริ่มขั้นตอนขึ้นมาใหม่ แต่หากมีวัคซีนป้องกันแล้ว พ.ร.บ.โรคติดต่อก็สามารถใช้ได้
นายอนุทิน กล่าวว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 มีเพียงพอ เพราะยังไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง เพราะทุกคนป้องกันตนเองด้วยวิธีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะที่การทดสอบวัคซีนในสัปดาห์นี้ สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค จะทำการทดสอบอีกครั้ง แต่ผลการทดสอบในรอบแรกถือว่าผลค่อนข้างดี ต้องทำการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง ก่อนจะนำมาทดลองกับคน ซึ่งต้องเน้นความปลอดภัยอยู่แล้ว คาดว่าอีกประมาณ 9 เดือนจะสามารถใช้วัคซีนได้ .-สำนักข่าวไทย