รพ.จุฬาฯ 25 มิ.ย. – ก่อนโควิด-19 จะระบาดระลอก 2 มีการพัฒนานวัตกรรม “หุ่นยนต์ไฟฉาย” ใช้แสงรังสี UV-C ฆ่าเชื้อโควิด-19 ในห้องผ่าตัดได้ผล 99.99% ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ทดลองใช้แล้วที่ รพ.จุฬาฯ และเตรียมนำใช้ในสถานที่เสี่ยง และที่สาธารณะอีกหลายแห่ง
นี่เป็นหน้าตาของ “หุ่นยนต์สายฟ้า” ที่ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับบริษัทไออีทีโซลูชั่น ผลิตขึ้น มีลักษณะเป็นโคมติดตั้งหลอดรังสี UV-C 12 หลอด กำลังไฟ 432 วัตต์ ล้อมลอบแกนกลางทรงกระบอก อยู่บนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีแบตเตอรี่ในตัว ควบคุมไร้สายด้วยรีโมทบังคับวิทยุ จากนั้นนำไปทดสอบในห้องผ่าตัด ซึ่งมีการนำเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ตายยากกว่าเชื้อโควิดไปวางตามพื้นผิวทั้งที่เป็นสแตนเลส กระจก และพลาสติกในจุดต่างๆ ของห้อง ปรากฏว่ารังสี UV-C จาก “หุ่นยนต์สายฟ้า” สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวให้ตายได้ภายใน 10 นาที ในระยะ 3 เมตร
แต่เนื่องจากประสิทธิภาพในการกระจายแสงของ “หุ่นยนต์สายฟ้า” ยังไม่ดีพอ จึงพัฒนามาเป็น “หุ่นยนต์ไฟฉาย” แทน นำแกนกลางและระบบขับเคลื่อนออก ติดตั้งหลอดรังสี UV-C จำนวนเท่าเดิม แต่เปลี่ยนเป็นทรงกรวยคว่ำ กระจายแสงได้รอบทิศทาง ควบควบการทำงานด้วยแอปพลิเคชัน
เมื่อนำไปทดสอบในห้องผ่าตัดอีกครั้ง ปรากฏว่าสามารถฆ่าเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และยีสต์ ได้ถึง 99.99% ภายในเวลา 3 นาที ที่ระยะ 3 เมตร ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับบุคลากรมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องผ่าตัดซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 จากการทำผ่าตัดหรือทำหัตถการคนไข้ แล้วเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อไปได้ไกลทั่วห้อง
“หุ่นยนต์สายฟ้า” ตัวต้นแบบ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 240,000 บาท แต่หลังพัฒนามาเป็น “หุ่นยนต์ไฟฉาย” ทำให้มีต้นทุนถูกลง 3-4 เท่าตัว ตอนนี้เริ่มทดลองใช้แล้วในโรงพยาบาลจุฬา และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นอกจากใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ในห้องผ่าตัดแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ฆ่าเชื้อในสถานเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว เพราะมีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน แต่ต้องระวังห้ามอยู่ใกล้ขณะหุ่นยนต์ทำงาน เพราะรังสี UV-C จะเป็นอันตรายต่อสายตาและผิวหนัง และนี่ก็เป็นอีกนวัตกรรมฆ่าเชื้อโควิดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับเชื้อโควิด ที่อาจซุกซ่อนอยู่ในจุดอับของห้องผ่าตัดของสถานที่เสี่ยง สถานที่สาธารณะ เช่น โรงแรม โรงเรียน ก็นำนวัตกรรมนี้ไปปรับใช้ได้. – สำนักข่าวไทย