ยธ.25 มิ.ย.- “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม”ไม่ทนกระแสกดดันและขอยุติความขัดแย้งในสังคมถอดใจ ลาออกจากที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการโครงการนิคมอุตสาหกรรมราขทัณฑ์ “สมศักดิ์” ไม่ยื้อเพราะไม่อยากให้ชอกช้ำไปมากกว่านี้ ขณะที่”ชวนพิศ” ลาออกเพิ่มอีกคน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็นการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์และผลกระทบจากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์ผ่านคดีความ เช่น นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) นายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย นายวินรวีร์ ใหญ่เสมอ หรือต๊ะ บอยสเก๊าท์
ก่อนเริ่มเสวนารับฟังความคิดเห็น นายสมศักดิ์ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าความเห็นจะออกมาแบบไหนก็พร้อมยอมรับ เพราะยังอยูในขั้นการศีกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ถ้าศึกษาแล้วมีความเห็นจากรอบด้านแล้วสร้างได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะตั้งใจคิดทำโครงการนี้เพื่อต้องการคืนคนดีสู่สังคม โดยยอมรับว่า โครงการนี้ ถูกสังคมจับตามอง เนื่องจากมีการแต่งตั้งนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ตนขอชี้แจงว่า ที่ปรึกษาที่ตั้งขึ้นจำนวน 5คน นั้น มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และจะขอคำแนะนำในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ ประกอบด้วย นางอัญชลี เชาวานิชย์ อดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายศิวะ แสงมณี อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และหลายกรมในกระทรวงมหาดไทย นายเทอดศักดิ์ เศรษฐมานพ อดีตอธิบดีกรมทางหลวง และสุดท้ายคือ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกสังคมตั้งคำถาม ยืนยันว่า การตั้งนายสุพจน์ มีเหตุผลเช่นเดียวกับที่ปรึกษาคนอื่นๆ โดยตั้งใจให้มาให้คำแนะนำเรื่องที่เขามีประสบการณ์เป็นหลัก ทั้งในเชิงบริหารที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานคมนาคม ระบบการขนส่งต่างๆซึ่งเป็นระบบที่จำเป็นของการขนส่งสินค้าในนิคมรวมทั้งประสบการณ์ตรงในเรือนจำ ที่เคยเป็นผู้ต้องขังจึงรู้ใจ รู้จักและรู้ความต้องการของผู้ต้องขัง แต่สุดท้ายความคิดเห็นรอบด้านออกมาอย่างไรก็พร้อมจะยอมรับ ไม่ฝืนกระแส
ส่วนความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในเวทีเสวนา ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพราะเป็นโครงการที่ สามารถเตรียมความพร้อมให้กับนักโทษที่จะออกสู่สังคมได้มีอาชีพรองรับและมีโอกาสในการกลับสู่สังคมอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำที่มีสถิติสูงอยู่ในปัจจุบัน
นายวินรวีร์ ใหญ่เสมอ หรือต๊ะ บอยสเก๊าท์ กล่าวว่า เมื่อทราบว่ากระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดจัดตั้งโครงการฯนี้ รู้สึกดีใจ เพราะเป็นโครงการที่ดีสำหรับให้ผู้ที่เคยหลงผิดได้มีที่อยู่ที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ ได้รับโอกาสให้กลับสู่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไม่เคยเจอด้วยตัวเองจะไม่มีทางรู้เลยว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ และตนเองก็พบกับตัวมาแล้ว ซึ่งในอดีตตนเคยตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีอาวุธปืน ใช้เวลาสู้คดีเกือบ3ปี และสุดท้ายศาลยกฟ้อง แต่แม้ตนจะไม่มีความผืด แต่สิ่งที่ได้รับคือสังคมตราหน้าไปแล้วว่าเป็นคนไม่ดี มีผลกระทบกับงานในวงการบันเทิง โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ ซึ่งก็เข้าใจได้ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับยาก ขนาดตนเองเพียงแค่มีคดีความ แต่ไม่ได้ถูกจำคุก ก็ถูกตีตราจากสังคมแล้ว ดังนั้นหากกระทรวงฯมีโครงการนี้ ก็จะเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่เคยหลงผิดได้มีสถานที่และอาชีพที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม ส่วนประเด็นที่เป็นข้อสังเกตและมีการแสดงความเป็นห่วง ห่วงใยจากผู้เข้าร่วมในวันนี้โดยเฉพาะจาก มูลนิธิองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) คือกรณีการแต่งตั้งนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย(ACT) กล่าวว่า คดีทุจริต บางคดีใช้เวลานาน 10 กว่าปีกว่าที่ศาลจะมีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ต้องถูกโดนลงโทษ ยังสามารถเดินเชิดหน้าชูตาในสังคมได้ ในขณะรายที่โดนลงโทษทางกฎหมายแต่ก็สามารถกลับมามีบทบาทในวงการเมืองและราชการได้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของ ประชาชนว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย แม้ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบันที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่เพิ่มการรับรู้ของคนทั่วไปว่า คนที่ทุจริตจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนเห็นด้วยที่ต้องการให้ผู้ต้องขังได้กลับคืนสู่สังคมตามแนวทางที่กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายแต่การที่จะกลับเข้ามาสู่ระบบราชการการเมืองในขณะที่ มีความผิดคดีคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่ใช่คดี ฉกชิงวิ่งราว หรือคดีทั่วๆไปซึ่งคดีคอรัปชั่นถือเป็นคดีที่ทำลายชาติเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งการที่นายสุพจน์ได้เข้ามาสู่ในตำแหน่งคณะอนุกรรมการ ที่อยู่ในระบบการเมืองและราชการ ทำให้ คนทั่วไปรู้สึกว่าคนนี้มีอำนาจ วาสนา บารมีซึ่งจะเป็นช่องว่างหากพูดหรือแสดงอิทธิฤทธิ์อะไร เราก็ต้องระวังตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้หน่วยราชการต้องตระหนักคนที่พ้นโทษแล้วจะไปเที่ยววัดหรือทำมาค้าขายกับหน่วยงานราชการสามารถทำได้แต่การเข้ามามีบทบาทในวงการเมืองหรือราชการต้องควรจะระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ ไม่เป็นต้นแบบของสังคมในการประพฤติปฏิบัติ ในทางที่ถูกต้องและข้าราชการชั้นผู้น้อยจะเกิดความเข้าใจผิด ต่อบรรทัดฐานการประพฤติปฏิบัติทั้งที ทั้งที่ มีเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเขียนว่าอย่างชัดเจน ป้องกันเรื่องการคอรัปชั่นของข้าราชการและนักการเมือง
ภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้วนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้แจ้งการลาออกของนายสุพจน์ทรัพย์ล้อม กลางเวทีเสวนา โดยบอกว่าได้ยื่นเรื่องต่อตนเองตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองก็เห็นว่าเขาบอบช้ำ จึงไม่ได้มีการยับยั้งใดๆ จากนั้นได้อ่านหนังสือลาออกของนายสุพจน์ ที่เป็นลายมือเขียนว่า ตามที่คณะกรรมการและประธานได้มีคำสั่งที่ 1/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 แต่งตั้งเป็นคณะที่ปรึกษาชุดดังกล่าว เมื่อได้รับการทาบทามทางจากกระทรวงยุติธรรมผมเห็นว่าจะสามารถใช้ความรู้ ประสบการณ์และความเข้าใจที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำมาถ่ายทอดให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ ผมจึงได้ตอบรับที่จะเข้าร่วม แต่ต่อมาผมได้รับทราบจากสื่อต่างๆว่ามีกระแสความไม่เห็นด้วย และเห็นว่าการที่ผมรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการชุดนี้มีความไม่เหมาะสมผมได้พิจารณาแล้วว่า เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งในสังคมและให้อนุกรรมการสามารถเริ่มปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของประเทศได้ทันทีผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการโดยมีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563
เช่นเดียวกันกับนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เช่นกันโดยแจ้งว่าขอลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ ฯ โดยอ้างถึงคำสั่งของคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่ 1/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ว่าตามที่นะได้มีการแต่งตั้งตนเองนางชวนพิศฉายเหมือนวงศ์เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเพื่อดังกล่าวนั้นข้าพเจ้า ขอกลับขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากข้าพเจ้ามีภารกิจบางประการที่รับผิดชอบและจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนอาจจะมีผลกระทบทำให้การทุ่มเทเวลาเพื่อที่จะช่วยงานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของท่าน ทั้งนี้ภายหลัง รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในวันนี้แล้วก็จะสรุปความคิดเห็นทั้งหมดส่งให้คณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้โครงการฯต่อไป.-สำนักข่าวไทย