กทม. 22 มิ.ย. – รมว.ยุติธรรม สั่งคุมเข้มเรือนจำ ห่วงผู้ต้องขังเลียนแบบพฤติกรรม พ.ต.ท.บรรยิน ด้านอธิบดีราชทัณฑ์ชี้แจงเรือนจำไม่เคยปฏิบัติกับผู้ต้องขังเยี่ยงสัตว์เหมือนที่ พ.ต.ท.บรรยิน กล่าวอ้างต่อศาล
จากกรณีวันนี้ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ไปแถลงต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในการนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีอุ้มฆ่าพี่ชายของผู้พิพากษา โดยบางช่วงบางตอนเอ่ยถึงการอยู่ในเรือนจำว่าถูกจับขังเดี่ยว ถูกใส่ตรวนข้อเท้า และได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ จนเครียดถึงขั้นผูกคอตาย แต่มีคนไปพบ ทำให้วันนี้สามารถเดินทางมาศาลได้
เรื่องนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันกับทีมข่าวสำนักข่าวไทยว่า ไม่มีทางที่เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเรือนจำได้ เพราะเรือนจำทุกแห่งมีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย ส่วนประเด็นที่ว่า หลังกลับจากศาล พ.ต.ท.บรรยิน จะถูกขังแยกเดี่ยวหรือรวม ขอไม่ให้รายละเอียด เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบกับคดีความ แต่ย้ำอีกครั้งว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานภายใต้กรอบกฎหมายแน่นอน ดังนั้นการกล่าวอ้างของ พ.ต.ท.บรรยิน ที่ว่าเมื่ออยู่ในเรือนจำถูกจับขังเดี่ยว ถูกใส่ตรวนข้อเท้าตลอดเวลา และปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ จึงไม่เป็นความจริง
“พ.ต.ท.บรรยิน” ขอใส่ตรวนแทนกุญแจเท้า อ้างเป็นโรคสะเก็ดเงิน
ล่าสุดมีข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับห้องคุมขัง พ.ต.ท.บรรยิน ภายในเรือนจำว่า ห้องขังเดี่ยวของ พ.ต.ท.บรรยิน เป็นเพียงห้องแยกที่ไม่ให้พบปะพูดคุยกับผู้ต้องขังรายอื่น ห้องขนาดไม่กว้างมาก ส่วนเรื่องอาหารในแต่ละมื้อ จะมีผู้ช่วยนักโทษนำมาให้ตามเวลา และระหว่างที่ถูกคุมขังก็ต้องใส่ตรวน เป็นเครื่องพันธนาการตามระเบียบของราชทัณฑ์ เนื่องจากผู้ต้องขังมีพฤติการณ์หลบหนี เรือนจำสามารถใช้เครื่องพันธนาการควบคุมได้ ส่วนการเดินทางไปขึ้นศาลเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ตรวน หรือกุญแจเท้า แต่กรณีของ พ.ต.ท.บรรยิน เจ้าตัวได้ขอเลือกใช้ตรวน เพราะผู้ต้องขังระบุว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน และการใช้ตรวนจะทำให้เสียดสีน้อยลง ซึ่งเรือนจำอนุโลมตามคำขอ
ราชทัณฑ์จึงขอย้ำว่า ข้อมูลที่ พ.ต.ท.บรรยิน แถลงต่อศาลว่าถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ เป็นคำกล่าวอ้างเกินเลย กรมราชทัณฑ์คงไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาติ (ยูเอ็น) ที่ต้องปฏิบัติกับผู้ต้องขังตามที่ระบุไว้ แต่ระเบียบบางอย่างตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เรือนจำสามารถดำเนินการได้ เช่น การขังเดี่ยว หรือแยกขัง เพื่อการควบคุมไม่ให้พบใครตามแต่ละเหตุผล หรือเหตุการณ์ หรือขังเดียวเพื่อลงโทษ ซึ่งเรือนจำทำได้ แต่มีระยะเวลากำหนด คือ 3 เดือน
รมว.ยุติธรรม กำชับเรือนจำจับตากลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลัง พ.ต.ท.บรรยิน แถลงต่อศาลว่าเตรียมฆ่าตัวตายในเรือนจำเพราะเครียด แต่มีคนมาพบก่อน ทำให้ต้องกำชับเรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำทั่วประเทศสอดส่องผู้ต้องขังเพิ่ม รวมถึงอย่าให้ผู้ต้องขังเก็บของมีคม หรืออุปกรณ์ที่สามารถทำร้ายตัวเองไว้ใกล้ตัว เพราะเกรงว่าอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ส่วนปัจจัยที่ผู้ต้องขังคิดจะฆ่าตัวตาย เป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่น ศาลตัดสินให้จำคุกมีโทษกำหนดหลายปีและมีคดีเพิ่ม ผู้ต้องขังรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ชีวิตล้มเหลว สูญเสียอิสรภาพ และผู้ต้องขังยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเองไม่ได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการพบผู้ต้องขัง 1 คนเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตาย อาจไม่มีใครผิด แต่ครอบครัวผู้ต้องขังจะต้องเสียใจ กรมราชทัณฑ์ต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม ข้าราชการต้องเสียเวลาทำข้อมูลชี้แจง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดขึ้น เรือนจำต้องใส่ใจดูแลผู้ต้องขังตั้งแต่ต้น ไม่เฉพาะแค่กรณีของ พ.ต.ท.บรรยิน รายเดียวเท่านั้น
ส่วนกรณีมีกระแสข่าว พ.ต.ท.บรรยิน ขู่อุ้มภรรยาผู้บัญชาการเรือนจำ เบื้องต้นได้รับรายงานเหมือนกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครยอมรับในแผนการ ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังมากขึ้น 2-3 เท่า ส่วนเรื่องการแหกคุก สถิติที่ผ่านมาแทบจับกุมได้หมดทุกคน ไม่มีใครหนีรอดไปได้ง่ายๆ . – สำนักข่าวไทย