กทม.21มิ.ย.–ผลสำรวจ “การบริโภคอาหารในช่วงโควิด-19” พบประชาชนส่วนใหญ่รายได้แย่ลงในช่วงโควิด-19 บริโภคอาหารครบทุกมื้อ แต่จำกัดชนิดอาหารเพื่อประหยัดเงิน–งดบริโภคอาหารมีราคา-ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ และงดบางมื้อ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “การบริโภคอาหารในช่วงโควิด-19” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15–16 มิ.ย.63 โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,273 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจพบว่าเมื่อถามถึงรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดพบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.51 ระบุว่าแย่ลง รองลงมาร้อยละ 37.00 ระบุว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 1.49 ระบุว่า ดีขึ้น
ส่วนความเพียงพอต่อการใช้จ่ายของรายได้ในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ17.91 ระบุว่าเพียงพอ ร้อยละ 16.03 ระบุว่าค่อนข้างเพียงพอ ร้อยละ 33.46 ระบุว่าไม่ค่อยเพียงพอ ร้อยละ 32.13 ระบุว่าไม่เพียงพอเลย และร้อยละ 0.47 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลต่อเงิน/รายได้ หรือทรัพยากร สำหรับการบริโภคอาหารที่จำเป็น พบว่าร้อยละ 21.13 ระบุว่ามีความกังวลมาก , ร้อยละ 38.18 ระบุว่าค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 23.80ระบุว่าไม่ค่อยมีความกังวล ร้อยละ 16.65 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผลกระทบต่อเงิน/รายได้หรือทรัพยากรในการหาซื้อหรือจัดหาอาหาร เพื่อการบริโภคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิค–19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.86 ระบุว่าบริโภคได้ตามปกติ รองลงมาร้อยละ 35.43 ระบุว่าบริโภคอาหารครบทุกมื้อ แต่จำกัดชนิดอาหาร เพื่อประหยัดเงิน ร้อยละ17.44 ระบุว่างดบริโภคอาหารดี มีคุณค่าและมีราคา เพื่อประหยัดเงิน ร้อยละ13.75 ระบุว่าลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 8.01 ระบุว่างดอาหารบางมื้อ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ ร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ได้บริโภคอาหารทั้งวันเพราะไม่มีเงิน และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ทั้งครัวเรือนไม่มีอาหารเหลือเพราะไม่มีเงิน
สำหรับการไปรับอาหารแจกฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ หรือไปรับอาหารจากตู้ปันสุข พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 83.19 ระบุว่าไม่เคยไปรับ ขณะที่ ร้อยละ 16.81 ระบุว่า เคยไปรับ
ด้านการเคยแจกเงิน อาหารหรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 64.89ระบุว่า ไม่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ขณะที่ร้อยละ 35.11 ระบุว่าเคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.07 เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของตนเอง และร้อยละ 32.20 ระบุว่า เคยร่วมแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ของหน่วยงาน/องค์กร/สมาคม
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ที่เคยแจกเงิน อาหาร หรือสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 เกี่ยวกับมูลค่าของสิ่งของ อาหาร หรือเงินที่แจก พบว่าร้อยละ 62.30 ระบุว่ามูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท ร้อยละ 23.25 ระบุว่า มูลค่า 1,001 – 5,000 บาท ร้อยละ 3.16 ระบุว่า มูลค่า 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 2.25 ระบุว่า มูลค่า 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 3.17 ระบุว่า มูลค่า 20,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 5.87 ระบุว่า ไม่ระบุ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 53.42 ระบุว่าไม่เคยรับ ขณะที่ร้อยละ 46.58 ระบุว่าเคยรับ โดยในจำนวนของผู้ที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือ/เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาล ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.01 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน รองลงมา ร้อยละ 37.77 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท
สำหรับกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 2.53 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม และร้อยละ 1.69 ระบุว่า เคยรับเงินเยียวยาสำหรับกลุ่มคนที่มีความเปราะบางทางสังคม เช่น เด็กแรกเกิด ผู้พิการ และคนชรา.-สำนักข่าวไทย