กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 ปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 2-4 ต่อปี-เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดี
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ธปท. ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาเป็นลำดับ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ นั้นจะทยอยครบกำหนด ธปท. จึงได้หารือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ประกอบด้วย สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สมาคมและชมรมของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 9 แห่ง ออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 ประเภทบัตรเครดิต เพดานใหม่ ร้อยละ 16 จากเดิมร้อยละ 18 สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ วงเงินหมุนเวียน (Revolving loan) เช่น บัตรกดเงินสด ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment loan) เพดานใหม่ร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 28 จำนำทะเบียนรถเพดานใหม่ร้อยละ 24 จากร้อยละ 28
2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563)
3. มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563) ขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และไม่เป็น NPLs ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อ เช่น การผ่อนชำระขั้นต่ำ การเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การลดค่างวด การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น เปรียบเทียบภาระหนี้เดิมและหนี้ใหม่ จำนวนหนี้และจำนวนงวดที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพิ่มจากการขอเลื่อนชำระหนี้
การช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำข้างต้นจะไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และในกรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะชำระหนี้ก่อนกำหนด จะต้องไม่มีการคิดค่าเบี้ยปรับ (prepayment fee) ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Call Center หรือส่งข้อความ SMS ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2563
4. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย และกรณีลูกหนี้ี่ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์
ธปท. เชื่อมั่นว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่ 2 นี้ จะทำให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ลดภาระหนี้และโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง และมีวิธีปฏิบัติต่อลูกหนี้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย