กรุงเทพฯ 16 มิ.ย.- อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขานรับนโยบาย ประธานศาลฎีกา ลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้ทำงานบริการสังคม สาธารณประโยชน์ เเทนค่าปรับไม่ต้องตัวไปขัง
เวลา 14.00 น. นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา โดยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีนางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา และประธานที่ปรึกษาโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใยฝ่าภัยโควิด” ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน
นายชูชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” โครงการที่ 3 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา เพื่อช่วยเหลือ ลดภาระแก่คู่ความ ประชาชนผู้ใช้บริการศาล ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดรายได้ และยอมรับโครงการดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ปัจจุบันยังมีจำเลย ผู้ต้องโทษปรับ จำนวนมาก ที่ไม่ทราบถึงสิทธิ์ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่ทราบ หรือเป็นความผิดทางศาลที่ไม่ประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร ทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ เพราะความยากจน ศาลอาญา จึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่างๆ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องโทษปรับ ทราบถึงสิทธิ์ที่จะขอทำงานแทนค่าปรับ ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น และ เพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลย ที่ศาลพิพากษาลงโทษปรับสถานเดียว หรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอ ที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นได้ ทั้งนี้ การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ 1วัน แทน เป็นเงิน 500 บาท และ ค่าปรับต้อง ไม่เกิน 50,000 บาท
ด้าน นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลธีกา กล่าวว่าการทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์ ถือเป็นการเปิดโอกาส ให้ผู้ต้องโทษปรับ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อต่อสังคม ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม
ส่วน นโยบายของประธานศาลฎีกา อยากให้มีการรอการลงโทษ มาปรับให้มากขึ้นนั้น นายชูชัย กล่าวว่า สำหรับการรอการลงโทษทางศาลไม่ค่อยใช้ แต่ละศาลจะมีบัญชีกำหนดอัตราโทษ ขณะนี้ศาลอาญา ก็เริ่มใช้ไปแล้วหลายคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้เงื่อนไข ว่าต้องเป็นการกระทำผิดครั้งแรก และภายในเวลาที่ศาลรอลงโทษ หากบุคคลนั้นทำผิดซ้ำ อัตราโทษที่รอไว้อาจจะรุนแรงขึ้น – สำนักข่าวไทย