สำนักข่าวไทย 15 มิ.ย.-คลิปหญิงสาวจับกลุ่มขายบริการทางเพศที่ จ.ปทุมธานี กลายเป็นคลิปที่โซเชียลให้ความสนใจ เพราะเหตุการณ์เกิดช่วงหลังประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว แม้ขายบริการทางเพศหรือ Sex Worker จะได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 แต่กลับเป็นเรื่องน่าตกใจที่จำนวนผู้ขายหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่ง NGO ที่ทำงานด้านนี้ เรียกร้องรัฐบาลให้ความคุ้มครอง ถือโอกาสทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย
กลายเป็นประเด็นที่คนให้ความสงสัยหลังมีคลิปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย กรณีมีหญิงสาวกลุ่มหนึ่งไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ยืนขายบริการโบกไม้โบกมือเรียกลูกค้าที่แวะเวียนขับรถเข้ามาจอดรถ พร้อมสอบถามราคาค่าบริการ และสถานที่ใช้ในการหลับนอน ภายในซอย ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จนทำให้มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคม
หากมองตามหลักความเป็นจริงเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ทุกจังหวัดมีอาชีพ SEX worker หรือผู้ขายบริการทางเพศ แม้ต่อมาเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจจสอบไม่พบการขายบริการ แต่คนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นยังมีอยู่จริง โดยความคืบหน้าเรื่องที่เกิดขึ้น ผกก.สภ.ธัญบุรี สั่งเข้มงวดห้ามมีการค้าประเวณีและมีสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทั้งโรงพัก ให้ตำรวจตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่าทำงานแบบผักชีโรยหน้า
ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ Swing Thailand ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง พบว่าปัจจุบันมีข้อมูลอาชีพผู้ขายบริการทางเพศ มากกว่า 200,000 คน และมีคนเข้าสู่อาชีพนี้เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ทุกคนประสบกับสถานการณ์โควิด และการเข้าถึงระบบเยียวยายังไม่ครอบคลุม ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายในสังคมจะหันมาพูดคุยกันอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยเฉพาะรัฐบาล เพราะหากมีกฎหมายที่ชัดเจนในการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ โดยไม่ให้ใครมาแสวงหาประโยชน์ จะเป็นผลดีกับประเทศ ที่สำคัญอย่างมองคนกลุ่มนี้เป็นใบไม้หรือขยะที่พร้อมกวาดทิ้ง ทุกคนมีภาระครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ
เช่นเดียวกับเช่นเดียวกับความเห็นของรองประธานกรรมาธิการกิจการเด็กและสตรีฯ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นว่ากฎหมายหลักที่ใช้ป้องกันและปราบปราม หรือดูแลคนกลุ่มนี้ มีเพียง 3 ฉบับ แต่ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุม ที่สำคัญมีความล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์รูปแบบการทำงานของอาชีพผู้ขายบริการ ดังนั้นควรต้องปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี 2539 ที่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจริง ในทางกลับกันมีช่องโหว่ให้เกิดการรเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจนี้ ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมและรัฐบาล ร่วมกันพยายามหาทางออกในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้า โดยสิ่งที่ต้องการรผลักดันคือการคุ้มครองคนเห่านี้ให้เป็นอาชีพที่มีสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่น และแนวคิดการขึ้นทะเบียนยังไม่ตอบโจทย์จากเงื่อนไขที่ต้องถูกตีตรา ซึ่งจะทำให้ผู้ไปขึ้นทะเบียนถูกมองในแง่ลบจากสังคม
ปัญหาการขายบริการแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังคงมีความเห็นแย้งในสังคมไทย โดยเฉพาะความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพในประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ กับเรื่องของศีลธรรมอันดีของคนในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาชั่งน้ำหนัง.-สำนักข่าวไทย