รัฐสภา 15 มิ.ย.-อดีตสนช.-สว.-ส.ส.ยื่นหนังสือถึง “ปธ.-เลขาฯสภา” ค้านจ่ายค่าเร่งรัดสร้างรัฐสภาให้บริษัทกว่า 200 ล้าน ชี้ขยายเวลาสร้างให้ 4 รอบ ทำสภาเสียหาย
นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือที่ลงนามโดยพล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.) นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และนายวัชระ พร้อมสำเนาหนังสือบริษัทฯ เลขที่ SINO-THAI/J.2436/L-841/R1 ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 และสำเนาหนังสือสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการจ่ายค่าเร่งรัดงานจำนวน 215 ล้านบาทให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
นายวัชระ กล่าวว่า การที่บริษัทผู้รับเหมาส่งหนังสือลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ขอค่าเร่งรัดงานก่อสร้างห้องประชุมสุริยันและห้องประชุมจันทรา จำนวน 215,041,233.48 บาท ซึ่งเป็นเงินของแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งชาติ ไม่ใช่เงินที่จะสั่งจ่ายตามอำเภอใจ ในฐานะที่ตนเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้เสียภาษีอากรให้รัฐ ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่เห็นชอบและขอคัดค้านการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้รับเหมาตามสำเนาหนังสือที่อ้างถึงดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
“การที่บริษัทผู้รับเหมาอ้างเหตุผลว่าต้องทำประกันเพิ่มและเตรียมพื้นที่ ซึ่งตามสัญญาการก่อสร้างข้อ 30 การทำประกันภัยเป็นการใช้พื้นที่ระหว่างก่อสร้างสภาฯสามารถเข้าใช้ได้ตามสัญญาข้อ 34 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการที่นายสรศักดิ์ขยายเวลาการก่อสร้างให้แล้ว จากเดิมที่กรรมการตรวจการจ้างชุดเก่าที่มีนายวีระพันธ์ มุขสมบัติ เป็นประธานฯ อนุมัติเพียง 287 วัน แต่เมื่อยุบกรรมการชุดเก่า ปรากฏว่านายสรศักดิ์เป็นประธานแทน กลับอนุมัติเห็นชอบขยายเวลาครั้งที่ 1เพิ่มเติมทันทีอีก 100 วัน เป็น 387 วัน อนุมัติในฐานะเลขาธิการสภาฯ ครั้งที่ 2 ให้ขยายเวลา 421 วัน ครั้งที่ 3 ในฐานะเลขาธิการสภา 674 วัน และในฐานะเลขาธิการสภาฯ ครั้งที่ 4 อีก 382 วัน รวม 1,864 วัน โดยไม่ฟังคำท้วงติงของกลุ่มงานพัสดุและไม่ขอความเห็นชอบจากสำนักกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งความล่าช้าจากการก่อสร้าง บริษัทจะต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จึงทำให้สภาฯ ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงขอให้ระงับการจ่ายเงิน 215 ล้านบาทเศษดังกล่าว” นายวัชระ กล่าว
นายวัชระ กล่าวถึงเหตุผลที่มายื่นหนังสือคัดค้านเป็นหลักฐานต่อนายชวนและนายสรศักดิ์ ว่า เนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ นายสุทธิพล พัชรนฤมล ตัวแทนบริษัทซิโน-ไทย พูดในที่ประชุมว่าบริษัทไม่ได้ขอเงินเพิ่มใด ๆ จากการเร่งรัดการก่อสร้างห้องประชุมสุริยัน-จันทรา เมื่อนายสุทธิพลยืนยันในกรรมาธิการวิสามัญเช่นนี้ เหตุใดนายสุทธิพลจึงลงชื่อในนามบริษัทฯ ขอเงินค่าเร่งรัดงานเพิ่มถึง 215 ล้านบาทตามหลักฐานที่ส่งถึงนายชวนในวันนี้.-สำนักข่าวไทย