กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.- องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ
ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563
เป็นต้นไปหลังรัฐยกเลิกเคอร์ฟิว พร้อมคุมเข้มป้องกันโรค โควิด-19
ย้ำผู้ใช้บริการต้องใส่หน้ากากทุกคน
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร
ระหว่างเวลา 23.00 -03.00 น.
และเห็นชอบมาตรการคลายการผ่อนคลาย มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19
ระยะที่ 4 โดยอนุญาตให้กิจกรรม/กิจการในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
กลับมาเปิดบริการหรือดำเนินการได้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563
แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายดังกล่าว
จะส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.เพิ่มขึ้น เป็นวันละประมาณ
650,000 คน
ขสมก.จึงจัดแผนการเดินรถโดยสารโดย จัดรถออกวิ่ง 100 % (3,000 คัน/วัน) หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา โดยมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย วันละประมาณ 25,000
เที่ยว ,ให้บริการทุกเส้นทาง ตามเวลาปกติ รวมทั้ง จัดรถโดยสารให้บริการตลอดคืน
(รถกะสว่าง) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และยังคงดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
(Social
Distancing) อย่างเคร่งครัด โดยพนักงานประจำรถ
มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ
และพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัย
และถุงมือทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
ด้านรถโดยสารประจำทาง จะเพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ
และการทำความสะอาดผ้าม่านบนรถโดยสาร เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ พร้อมทั้งติดตั้งขวด เจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือ
บริเวณประตูทางขึ้น กำหนดจุดนั่ง
(เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท)
และจุดยืนให้มีระยะห่างกัน 1 เมตร ซึ่งรถโดยสาร
1 คัน อนุญาตให้ ผู้ใช้บริการ ยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็ม พนักงานเก็บค่าโดยสารจะติดป้ายข้อความ “ ผู้ใช้บริการเต็ม โปรดใช้บริการ รถคันถัดไป ” บริเวณกระจกหน้ารถโดยสาร
พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ
เพื่อรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
นอกจากนี้ ยังติดตั้ง QR
Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บริเวณหลังเบาะที่นั่ง
และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร
สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง
กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
ขณะใช้บริการรถโดยสาร ,ต้องนั่ง และยืนตามจุดที่กำหนด
กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป และ ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ
และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด -สำนักข่าวไทย