สธ. 9 มิ.ย.-ปลัด สธ. กลับลำบอก “นพ.ชาญชัย”ผอ.รพ.ขอนแก่นยังไม่ผิด ฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังเป็นแค่ข้อกล่าวหา การย้ายไม่ใช่เพราะบัตรสนเท่ห์ รับลูกหน่วยงานอิสระสอบ 100 รพ. เยียวรับเงินบริษัทยา
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวชี้แจงกรณีการโยกย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้นพ.ชาญชัย ยังไม่ได้ว่ามีความผิด คำว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ถือว่าเป็นแค่ข้อกล่าวหา และการย้ายออกจากพื้นที่ไม่ได้ทำหลังมีการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ทันที แต่การสอบสวนนี้มานานกว่า 8 เดือนแล้ว โดยการร้องเรียนเกิดขึ้นเมื่อ 12 กันยายน 2562
ส่วนการย้ายออกจากพื้นที่นั้น ตนไม่เคยระบุว่ามีการข่มขู่พยานเลยและในเอกสารก็ไม่เคยระบุ แต่ย้ายเพราะเนื่องจากมีมูล และต้องมีการสอบสวนเพิ่ม ไม่ใช่แค่บัตรสนเท่ห์ใบเดียวแล้วย้ายออก พร้อมเตรียมขยายผลสอบกรณีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รับเงินจากบริษัทยา หลังจากนักวิชาการอิสระ ออกมาให้ข้อมูล
นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี นพ.ชาญชัย กล่าวว่า คณะกรรมการสอบสวน มีทั้งสิ้น 5 คน พิจารณาข้อมูลทั้งพยานบุคคลและเอกสาร และในการสอบจะเน้นบุคคลที่มีรายชื่อและเชื่อมโยงกัน ทั้งมีการเรียกสอบ โดยพบว่า มีหลักฐานชัดเจนในการชี้มูลว่าเรียกรับเงิน แต่เมื่อสอบถามว่า ความผิดที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นโดยตำแหน่งหน้าที่ หรือเฉพาะตัวบุคคล ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน พร้อมปฎิเสธเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบ
นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ และอดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ จำกัด กล่าวว่า เรื่องระเบียบการห้ามรับเงินบริจาค 5 เปอร์เซนต์จากบริษัทยานั้น ที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลจากการสอบถามตัวแทนยาเกี่ยวกับการขายยากับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทั้งรพ.ศูนย์(รพศ.)/รพ.ทั่วไป(รพท.)ในเดือนมีนาคม 2562 รวม 786 แห่ง พบมีการรับเงินรวม 12แห่ง ไม่รับเงิน 774 แห่ง หลังจากนั้นเดือน พ.ย.62 พบมีการเรียกเก็บรับเงินเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมทั้ง รพศ./รพท. พบเรียกเก็บเงินรวม 186 แห่ง และไม่รับเงิน 600 แห่ง ซึ่งข้อมูลตรงนี้ได้มีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.สม่ำเสมอ
นายมนู กล่าวว่า บริษัทยาในประเทศไทย มีด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.บริษัทต่างประเทศตั้งโรงงานในไทย 2.บริษัทยาในประเทศ 3.บริษัทที่มีการนำเข้ายา ซึ่งใน 2 กลุ่มแรกมีการอบรมให้ทราบระเบียบปฏิบัติว่าสิ่งใดทำได้ทำไม่ได้ ซึ่งหากพนักงานขายหรือผู้แทนยาไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ซึ่งในส่วนของการบริจาคเชื่อว่าไม่มีบริษัทยารายใดต้องการโรงพยาบาล เชื่อว่าเป็นสิ่งที่บริษัทยาไม่อยากทำ เพราะอาจมีความผิดได้ แต่ต้องดูที่เจตนา เพราะบางคนอาจบริจาคเพราะได้รับความเชื่อจาก รพ.
ส่วนเรื่องการพิจารณาเชื่อมโยงถึงการรับผลประโยชน์ในการบริจาคเงินของบริษัทยา สามารถตรวจสอบได้จากความสม่ำเสมอของการบริจาค และเงินส่วนลดค่ายาที่ต้องสอดคล้องกัน พร้อมชี้ว่าการตรวจสอบกรณีจดหมายสนเท่ห์เป็นเรื่องปกติในบริษัทยาที่เกิดขึ้นและกระบวนการสอบสวนเรื่องนี้ส่วนใหญ่ใช้เวลา 6 เดือนถึงแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ขั้นตอนการตรวจสอบ หากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบแล้วเสร็จ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จากนั้นส่งให้ อกพ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน .-สำนักข่าวไทย