รัฐสภา 7 มิ.ย.- กมธ.ฝ่ายค้าน เตรียมงัด ม.144 ขู่ ครม. ใช้ พ.ร.บ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้านบาทมิชอบ ด้าน “เรืองไกร” โวย วิปรัฐบาล กดดัน เชื่อไม่ทันเข้าสภา พิจารณาวาระ 2-3 วันที่ 11 มิ.ย. นี้
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. สัดส่วนฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงข้อสังเกตในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่า จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น กรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และการล็อกฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้สามารถปรับลดงบประมาณได้ จากวงเงินที่กำหนด โดยตัดงบที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนออกไป แต่กลับคงงบในโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น งบโครงการอบรมสัมมนาประชาสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเจตนาออกหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้คนที่มีศักยภาพมากกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงอยากให้มีการตามต่อ และหากเราเป็นรัฐบาลเราจะถอยในเรื่องนี้
ด้านนายเรืองไกร กล่าวว่า ได้สอบถามในที่ประชุมกรรมาธิการว่า หากที่ประชุมกรรมาธิการไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทาง ครม.จะดำเนินการอย่างไร เพราะจะเท่ากับว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ และจะดึงเอางบประมาณกลับมาพิจารณาตามแผนงานได้ทันหรือไม่ ทั้งนี้มติ ครม. ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้นการออกมติครม.ต้องชอบด้วยกฎหมายและรัรฐธรรมนูญ ซึ่ง ผอ.สำนักงบประมาณ พยายามยืนยันว่า กรรมาธิการไม่สามารถปรับลดงบประมาณฉบับนี้ได้ แต่ตนเห็นต่างว่า เมื่อมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมา หากเห็นว่าไม่จำเป็นก็ต้องปรับลดได้ แต่ที่เป็นปัญหา คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้แบบ งบประมาณปี 63 ที่ระบุว่า งบประมาณต้องใช้จ่ายไม่เกินเท่าไหร่ แต่ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ กลับได้กำหนดให้ใช้งบประมาณทั้งหมด 8.8 หมื่นล้านบาทที่ได้โอนมา ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องหาทางเอางบประมาณที่อนุมัติไปแล้วกลับมา
“ผมมองว่าเรื่องนี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรค 3 ว่าด้วย กรณีที่มีการแปรญัตติเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนรายการในร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย มิได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่อาจส่งผลให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะได้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้เข้ามาสอบถามในกรรมาธิการว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 11 มิ.ย.นี้หรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาได้ แต่ไม่ควรบีบกรรมาธิการให้พิจารณให้แล้วเสร็จตามวันเวลาที่กำหนด รวมถึงในวาระการประชุมสภาก็ยังไม่มีกำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องเรียนว่าในวันที่ 11 มิ.ย.นี้จะไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระ 2-3 ได้ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการจะพยายามพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เร็วที่สุด .-สำนักข่าวไทย