กทม. 25พ.ค.-ชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 ร้อง ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-กทม.ตรวจสอบโครงการคอนโดมิเนียมใหญ่จ่อเข้า EIA รอบ 2 หลังถูกตีตก 2 ครั้ง หวั่นผลกระทบมหาศาล หวังเป็นตัวอย่างเล็กๆให้คนกทม.อีกหลายพื้นที่ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจต้องนำเสนอศาลปกครอง
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 ชี้แจงว่า ชาวบ้านย่านเอกมัย-สุขุมวิท 61เป็นกังวลต่อโครงการคอนโดมิเนียม ขนาดยักษ์ที่จะสร้างในซอยเอกมัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการได้ซื้อที่ดิน 2 แปลงเชื่อมติดกัน ทำให้ที่ดิน มีลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว จากซอยเอกมัย 63 ถึงซอยสุขุมวิท 61ซึ่งเป็นซอยเล็กและตัน ชาวบ้านละแวกนี้กว่าร้อยคนได้ร้วมตัวกันส่งหนังสือคัดค้าน โครงการไปยัง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร กรุงเทพมหานคร(คชก.) มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งในการประชุม คชก.ครั้งแรกเมื่อ 12มี.ค.63 ไม่อนุมัติโครงการโดยระบุเหตุผลต่างๆถึง 62 ข้อ และระบุให้โครงการกลับมาหารือกับชุมชนเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แต่โครงการเพียงส่งจดหมายมาถึงชาวบ้านว่า ได้ทำการปรับปรุงแบบแล้ว ซึ่งมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยมาก และไม่มีผลแตกต่างแต่อย่างใด
โครงการได้ยื่นเสนอ คชก.เป็นครั้งที่ 2 วันที่14 พ.ค.63 ในรอบนี้ คชก.เห็นว่าข้อมูลที่โครงการทำมาใหม่ยังไม่ครบถ้วนให้กลับไปทำมาอีก กำหนดให้นำมาเสนอ คชก.ใหม่รอบ 3 ในวันที่ 28 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่าหากโครงการได้รับอนุมัติจาก คชก.ให้ผ่าน จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนละแวกนี้ในทุกมิติอย่างมหาศาล
โดยเหตุผล คือ 1. ขนาดและความสูงของโครงการที่ออกแบบเป็น 3อาคารเรียงกันในแปลงที่ดินที่ลักษณะยาวเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว อาคารหน้าสุดติดถนนเอกมัยสูง 25 ชั้น อาคารตรงกลางสูง 43 ชั้นและหลังสุดท้ายติดชอยสุขุมวิท 61 เป็นอาคารจอดรถ(บนดินน9ชั้น ใต้ดิน 7ชั้นพื้นที่ 40,396ตรม.) ส่วนอาคารสูง 43 ชั้นนั้นสูงกว่าอาคารใหญ่อื่นๆในละแวกนี้อย่างมาก ที่โดยเฉลี่ยจะสูงไม่เกิน 20-30 ชั้น นอกจากนี้มวลส่วนใหญ่ของอาคารยักษ์43 ชั้นยังเยื้องมาอยู่ทางด้านชอย 61 อีกด้วย
ในละแวกนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวที่อยู่กันมากว่าครึ่งค่อนศตวรรษ และมีคอนโด 8 ชั้นอยู่บ้างประปราย การมีตึกระฟ้าผุดขึ้นมาท่ามกลางบำนเล็กๆที่สูงเพียง2-3 ชั้นย่อมส่งผลกระอย่างมากในด้านสิ่งแวดล้อม แสงแดดที่จะหายไป ความผันผวนและความรุนแรงของลมที่เกิดจากการปะทะของอาคารสูง คุณภาพอากาศที่ย่อมจะเลวลง ปัญหาฝุ่น PM2.5 จะตามมาในระยะยาว มลพิษทางเสียง
2.ผู้ก่อสร้างใช้ชั้นเชิงทางกฏหมายแยกอาคารออกเป็น 3 ส่วน เพื่อให้พื้นที่แต่ละอาคารไม่เกิน 30,000 ตารางเมตรเพราะหากเกินกว่านั้นกฎหมายจะบังคับให้ต้องมีถนนหน้าอาคาร กว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรทันที ซึ่งซอยเอกมัยมีความกว้างไม่ถึง 18 เมตร
ชมรมชาวซอยสุขุมวิท 61 จึงฝากคณะกรรมการชำนาญการสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยรับฟังผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ถี่ถ้วน เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ ทั้งนั้น เช่น ฝุ่นละอองน้ำท่วม รถติด ขณะที่การสร้าง ปัญหาวัสดุต่างๆที่อาจตกหล่นได้ เหมือนกับอาคารชุดหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ที่ส่งผลกระทบกับสภาพชีวิตวามเป็นอยู่ของชาวบ้านดั้งเดิมอยู่ในขณะนี้ และขอให้ชาวบ้านได้อยู่อย่างปลอดภัยและปกติสุข โดยไม่ต้องถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่สามารถรองรับได้และโปรดอย่าส่งเสริมการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมกับบริบทโดยรอบเป็นอย่างมาก
พร้อมย้ำชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการพัฒนาหรือการขยายตัวของเมือง แต่ควรเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และที่สำคัญควรคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของคนส่วนมาก ไม่ใช่สนับสนุนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้แสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้ตนเองมากที่สุด ในขณะที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน ส่วนผู้ประกอบการก็ไม่ควรคำนึงแต่ผลกำไรเป็นหลัก ซึ่งหากไม่ได้รับการตอบสนองชมรมชาวบ้านจะไปยื่นเรื่องกับกระบวนการยุติธรรมอื่นต่อไป.-สำนักข่าวไทย