กทม. 20 พ.ค. – มวยไทยเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยเตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อขอให้พิจารณาปลดล็อกการแข่งขันชกมวยไทยให้กลับมาแข่งขันได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้
“ชาติซ้าย” หรือสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือเพื่อยื่นข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และคณะกรรมการมวย พิจารณาปลดล็อกให้มวยไทยกลับมาจัดการแข่งขันให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากคนในวงการมวยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการขาดรายได้ ทั้งนี้ สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย พร้อมเป็นตัวกลางประสานคนในวงการมวยทั้งค่ายมวย เวทีมวย นักมวย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติอย่างปลอดภัยในการจัดแข่งขันชกมวย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือการจัดแข่งขันชกมวยแบบ New Normal ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ธณญชัย สมหวังไก่ย่าง ซึ่งเป็นนักชกเงินแสน ยอมรับว่าเดือดร้อนไม่ต่างจากนักชกคนอื่นๆ จากเดิมมีรายได้ 1 ไฟต์ 120,000-170,000 บาท แต่ขณะนี้รายได้หายไปทั้งหมด เบื้องต้นต้องหายรายได้เสริมด้วยการนำเสื้อผ้ากีฬาของตนเองที่ใช้ซ้อมและชก ซึ่งเป็นของสะสมมาไลฟ์ขายออนไลน์เพื่อเลี้ยงชีพ
เช่นเดียวกับ ทักษิณเล็ก ศิษย์อโนทัย เปิดเผยว่า มีรายได้ก่อนหน้านี้ประมาณ 80,000 ต่อการชก 1 ไฟต์ แต่ช่วงนี้ไม่มีรายได้ เงินออมที่เก็บไว้ก็หมดไปแล้ว ล่าสุดยื่นเรื่องขอกู้เงินกับธนาคารออมสินไว้ 10,000 บาท อยู่ระหว่างรอการพิจารณา ทำให้ต้องหารายได้เสริมด้วยการทำหมูปลาร้าขาย มีรายได้เพียงวันละประมาณ 600 บาท ต้องแบ่งกับเพื่อนนักมวยในค่ายอีก 4 คน หากยังไม่มีการปลดล็อกมวยไทยจะทำให้เดือดร้อนมากขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์การเยียวยาบุคคลในวงการกีฬามวยที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยจะช่วยเหลือ 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักมวย อายุ 15-17 ปี และนักมวย 18 ปีขึ้นไป 2.ผู้ฝึกสอน 3.ผู้ตัดสิน 4.หัวหน้าค่ายมวย 5.ผู้จัดการนักมวย 6.ผู้จัดรายการแข่งขัน และ 7.นายสนามมวย
ส่วนนักกีฬาจะได้รับคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาทต่อคน แต่เมื่อครบ 3 เดือนแล้วยังไม่การแข่งขัน จะต้องรอนโยบายจากรัฐบาลต่อไปว่าจะเยียวยาเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้เงินเยียวยาของนักกีฬาจะเริ่มจ่ายเงินในเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม บุคลากรกีฬาอาชีพที่มีสิทธิ์จะได้รับมาตรการช่วยเหลือ จะต้องไม่เป็นข้าราชการ, พนักงานของรัฐ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้ประจำ และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับเงินจากภาครัฐในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ไปก่อนหน้านี้. – สำนักข่าวไทย