สธ.20 พ.ค.-สธ.-ดีอีเอส ย้ำความสำคัญ “ไทยชนะ” ช่วยคัดกรองค้นหาผู้ป่วย หากมีการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ค้นหาบันทึกช่วยเวลาทำกิจกรรม แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมเผยการใช้แพลตฟอร์มนี้ ใน 2 วันที่ผ่านมา พบปัญหา 20% คือลืมเช็กเอาท์
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้ไทยมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 31 คน เหลือยังอยู่ รพ. 90 คน ส่วนรายใหม่ 1 คน เป็นคนไทยที่กลับจากประเทศบาเรนห์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. อยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดหาให้ดูแล ก่อนจะพบว่าป่วยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ขณะที่วันนี้ (20พ.ค.) มีคนไทยกลับจากรัสเซีย บราซิลอีกประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อค่อนข้างสูง ดังนั้นยังไม่ทราบว่าจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ดูแลหรือไม่
นพ.อนุพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยโควิด-19 มารักษาผู้ป่วยรายใหม่สำเร็จนั้น ถ้ามีการติดตามข่าวสารที่ผ่านมา จะมีการขอให้คนหายป่วยโควิด-19 มาบริจาคภายใน 60 วัน หลังจากรักษาโควิด-19 หายแล้ว โดยบริจาคได้ที่สภากาชาดไทย หรือคลังเลือดใน รพ.แต่ละแห่ง อย่างไรก็ตามระดับภูมิคุ้มกันบุคคลไม่เท่ากัน จึงอยู่ที่แพทย์เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นการที่ มอ.หรือ รพ.อื่นๆ จะเริ่มให้ใช้นั้นก็ จะเก็บข้อมูลว่าแต่ละรพ. ที่มีการใช้พลาสมานั้นได้ผลเป็นอย่างไร การเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังต้องมีการรวบรวมข้อมูลต่อไป
นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมี รพ.ในสังกัดดูแลประชาชนในประเทศจำนวนมาก และยังมีส่วน รพ.สังกัดอื่นๆ อีกทั้งของรัฐและเอกชน ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะมีการทำแพลตฟอร์มในการรวบรวมข้อมูลด้านสาธารณสุขโดยมี 4 ภารกิจได้แก่ 1.ควบคุมโรค 2.ตรวจวินิจฉัย 3.ให้การรักษาและ4.สนับสนุนด้านทรัพยากร ซึ่งทั้ง 4 ภารกิจต้องใช้การเชื่อมโยงการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน เพื่อใช้ในการประเมินผลให้วิเคราะห์สถานการณ์ ดังนั้นหากมีการระบาดรอบ 2 ระบบ จะสามารถทำงานได้รวดเร็ดลดความซ้ำซ้อนและทำให้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การสแกนคิวอาร์โค้ดในแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ในธุรกิจบริการ สีขาว สีเขียว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยหามีการระบาดระลอก 2 โดยข้อมูลนี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด ระบบจะจดจำเบอร์โทรศัพท์ และบันทึกช่วงเวลาของการทำกิจกรรม หรือเข้าใช้บริการกิจการ แต่ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันเป็นการประเมินร้านค้า และบริการด้วยว่า สามารถทำตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ในเรื่องของความสะอาดและระยะห่างทางสังคม ในการใช้พื้นที่ของบริการนั้นๆ โดยพบว่าสิ่งที่ฝ่าฝืนทำไม่ได้ครบส่วนใหญ่ของร้านค้า คือการทำความสะอาดพื้นผิว สัมผัส เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มักลืมการสแกนคิวอาร์โค้ดออก ซึ่งจุดนี้มีมากถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มาใช้บริการ .-สำนักข่าวไทย