ทำเนียบฯ 18 พ.ค.- คณะอนุกรรมการฯอำนวยการน้ำ เห็นชอบ 8 มาตรการ เร่งเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำพร้อมรับฤดูฝน คาดฝนมากบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ไปถึงต้นเดือนกรกฎาคม ขณะที่บริเวณตอนกลางของประเทศ ฝนจะมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อประชุมติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ซึ่งขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยขณะนี้เริ่มมีปริมาณฝนตกมากขึ้นในบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก และฝนจะตกกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะเกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ไปถึงต้นเดือนกรกฎาคม และในช่วงเดือนสิงหาคมฝนจะมากขึ้น บริเวณตอนกลางของประเทศ แต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกปริมาณฝนจะลดลง
ที่ประชุมวันนี้ มีมติเห็นชอบ 8 มาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูฝน ปี 2563 ประกอบด้วยการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การปรับแผนการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ซึ่งพื้นที่ทุ่งบางระกำ สามารถเพาะปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 ให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลากเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำ ส่วนอีก 12 แห่ง เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกได้แล้วโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก จัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน พร้อมสั่งการให้ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ เช่น เร่งจัดเตรียมระบบสูบน้ำย้อนกลับเข้าอ่างฯ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก เร่งตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง
เร่งรัดหน่วยงานตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 189 แห่ง จากแผน 625 แห่ง โดยให้หน่วยงานเร่งดำเนินการ กำจัดแหล่งน้ำที่มีผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 128 จุดทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่การขุดลอก กำจัดผักตบชวา ซึ่งจากผลดำเนินการกำจัดผักตบชวาบริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง แหล่งน้ำปิดทั่วไป และแหล่งน้ำเชื่อมโยงตั้งแต่ตุลาคม 2562 -ปัจจุบันดำเนินการแล้วประมาณ 2 ล้านตัน โดยล่าสุดจิสด้าได้จัดส่งภาพถ่ายดาวเทียมในเขตพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด 19 จังหวัด ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเรียบร้อยแล้ว ในการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับทราบและร่วมมือสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
รองนายกรัฐมนตรียังได้มอบนโยบายขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการอย่างจริงจัง เดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบนำมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการโดยเร็ว เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์ในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม นี้จะลงพื้นที่ติดตามแผนงานการกำจัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม เพื่อรองรับน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐและชุมชนริมน้ำในการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบในหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 63 (1 พ.ค. – 31 ต.ค.63) โดยปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 มีทั้งสิ้น 37,433 ล้านลบ.ม.
ขณะที่ประเมินความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวม 83,085 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น การอุปโภค-บริโภค 3,653 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 11,496 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 67,166 ล้าน ลบ.ม. แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 76.271 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 27.61 ล้านไร่ นอกเขตประทาน 48.66 ล้านไร่ และอุตสาหกรรม 770 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ปริมาณน้ำที่ต้องการในส่วนที่เหลือจะอาศัยปริมาณน้ำฝนอีกประมาณ 63,372 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 63 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกันประเมินสถานการณ์และคาดการณ์การจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 36 แห่ง ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่เขตชลประทานจนสิ้นสุดฤดูฝน 30 ตุลาคม 2563 โดยวางแผนปรับปริมาณการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป .-สำนักข่าวไทย