ทำเนียบรัฐบาล 16 พ.ค.-โฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รวม 66 ล้านคน แต่ต้องมีการคัดกรองป้องกันการซ้ำซ้อน
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า รัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือดูแลการเยียวยาประชาชนให้ครอบคลุมและทั่วถึงกับประชาชนทุกกลุ่ม ดังนั้นมาตรการเยียวยาของภาครัฐไม่ได้มีเฉพาะแค่มาตรการ 5,000 บาทเท่านั้น และมาตรการเหล่านี้จะออกมาในระยะอันใกล้นี้
โดยกลุ่มที่ 1 กลุ่มของแรงงานในระบบ มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน ที่ทางสำนักงานประกันสังคมดูแลให้อยู่
กลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานอิสระ ที่กระทรวงการคลังรับมาดำเนินการในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ที่เยียวยาเงิน 5,000 บาท 3 เดือน ซึ่งได้ดำเนินการมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์ 15 ล้าน
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านคนและกระทรวงเกษตรได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งจะได้รับครอบครัวละ 5,000 บาท
และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือจะเป็นหน่วยงานของราชการท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน รัฐบาลดูแลโดยทุกวันนี้ยังไม่มีการลดวันหรือลดเงินเดือน ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้มีประมาณ 40 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มแรงงานในประเทศไทยที่มีการดูแลอยู่แล้ว
นายลวรณ กล่าวอีกว่า ยังมีกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือมาตรการของภาครัฐ คือ กลุ่มที่ 5 กลุ่มเปาะบาง ประกอบด้วย เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังเสนอมาตรการเพื่อการดูแลกลุ่มนี้อยู่
กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย มีทั้งหมด 14.6 ล้านคน แต่หากหักจำนวนการเยียวยาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มอื่นๆ จะเหลือกลุ่มนี้เพียง 2.4 ล้านคน
ส่วนกลุ่มที่ 7 คือกลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ซึ่งมาร้องเรียนกันมากในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 1.7 ล้านคน โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนที่จะกลับมาดูให้ใหม่ โดยสามารถไปดูได้ที่ธนาคารของรัฐทุกแห่ง เพราะที่กรมประชาสัมพันธ์ปิดแล้ว
และกลุ่มที่ 8 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉิน ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีมาตรการรองรับไว้แล้ว ทั้งหมดนี้ต้องดูไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งรวมแล้วจะมีคนที่ภาครัฐจะต้องดูแลประมาณ 66 ล้านคน ซึ่งทุกกลุ่มมีมาตรการดูแลไว้หมดแล้ว
นายลวรณ กล่าวด้วยว่ารัฐบาลยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในหลาย ๆ ด้าน ในทุกมิติ เช่น การยืดชำระภาษีเงินได้ถึงเดือนสิงหาคม การชะลอ-ลดจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และถ้ายังไม่พอ รัฐบาลก็ได้เตรียมสินเชื่อฉุกเฉินเอาไว้ด้วย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท สามารถกู้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน ที่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และยังมีสินเชื่อพิเศษอีกก้อนหนึ่ง วงเงินประมาณ 50,000 บาทต่อคน รองรับได้ 4 แสนคนดอกเบี้ย 0.35% .ใช้สลิปเงินเดือนเป็นหลักฐานการกู้เงิน
สำหรับผู้ประกอบการยังมีแรงจูงใจให้ หากยังรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้เหมือนเดิมในช่วงเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน สามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักการเสียภาษีได้ 3 เท่า และยืดเวลาการเสียภาษีนิติบุคคลด้วย นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมเงินให้ 5 แสนล้านของ soft Loan ที่จะให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ส่วน SME ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อก็จะมีอีกมาตรการมาดูแลเร็วๆนี้ ยืนยันให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลคนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้าตามมาตรการที่เหมาะสมแตกต่างกัน.- สำนักข่าวไทย