กรมอุตุฯ 9 พ.ค. – กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยตอนบนระวังพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 10-13 พ.ค.นี้ เริ่มมีผลกระทบบริเวณภาคอีสานและภาคตะวันออกก่อน โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563) ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ระบุว่า ช่วงวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะเริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกก่อน มีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะเริ่มมีผลกระทบในคืนวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันถัดไป (11 พ.ค.) จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
ส่วนพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งในระยะนี้ เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ ขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย ส่วนลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณหัวเกาะสุมาตรา ซึ่งจะส่งผลให้คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น
สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส. – สำนักข่าวไทย