พม.28 เม.ย.-พม.ย้ำเกณฑ์จ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ไม่ใช่เงินเยียวยาประชาชนทั่วไป เป็นเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย คนไร้ที่พึ่ง ชาวเขาและผู้ที่เดือดร้อนจากโควิด-19” ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงแล้ว
นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เป็นกรณีเร่งด่วน โดยใช้งบประมาณปกติและเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือตามระเบียบ พร้อมตั้งครัวกลางและศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ
นางพัชรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนวงกว้าง พม.มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจึงดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ ทั้งอาหาร ที่พัก เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน อีกทั้งยังใช้มาตรการทางบริหารสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงฯ ด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์รายละไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เงินเยียวยา โดยเบิกจ่ายตามระเบียบและประกาศของกระทรวง พม.ประกอบด้วย
1) การสงเคราะห์เด็กภายในครอบครัว
2) การสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนาเดิม
3) การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน
4) การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง
5) เงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
6) การช่วยเหลือสตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม
7) การคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนการจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ผู้สูงอายุตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง
8) การคุ้มครอง การส่งเสริมและการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้สูงอายุ
ซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำปรึกษาดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาครอบครัวและหนังสือกระทรวงการคลัง อาทิ 1) การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และการดำเนินงานช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่สตรีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเอดส์ 2) การเบิกค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคเอดส์ และ 3) เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวชาวเขา
“การจ่ายเงินสงเคราะห์ไม่ใช่สำหรับประชาชนทั้งหมดในภาพรวมของประเทศแต่เฉพาะประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน อาทิ เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย คนไร้ที่พึ่ง ชาวเขา และผู้ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีกระบวนการตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงจากนักสังคมสงเคราะห์ว่ามีความเดือดร้อนและความต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างไร อีกทั้งต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณีตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” นางพัชรี กล่าว
สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐนั้น นางพัชรี กล่าวว่า ทาง พม. สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยและ กทม.จะร่วมกันสำรวจพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน และทุกกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.63 โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเชื่อมโยงกับ ทุกกระทรวง เพื่อดูแลประชาชนที่เดือดร้อนให้ครอบคลุมได้มากที่สุด และตกหล่นให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามหากประชาชนประสบปัญหาทางสังคมและเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 หรือพบเห็นผู้ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ติดต่อที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด ในภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย หรือแจ้งมายัง สายด่วน พม. โทร 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมงของศูนย์ช่วยเหลือสังคม
นางพัชรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ พม. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน ผู้ที่ตกงานและผู้ประสบปัญหาสังคมที่ไม่มีที่พักอาศัยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยจัดเตรียมสถานที่รองรับ 5 แห่งที่สะอาด ปลอดภัยและมีอาหารครบ 3 มื้อ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด อีกทั้งได้เตรียมรถบริการของศูนย์ช่วยเหลือสังคมสำหรับประชาชนที่ไม่มีที่พักอาศัย เพื่อพาไปส่งที่จุดคัดกรองเฉพาะกิจ (ดินแดง) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ โดยจะมีการตรวจสุขภาพในเบื้องต้นก่อนให้เข้าพักในสถานที่รองรับ
ส่วนต่างจังหวัดเตรียมหน่วยงานในพื้นที่ทุกจังหวัด เป็นสถานที่รองรับและมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด ร่วมตั้งครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารให้ประชาชนทั่วไปในที่สาธารณะ ได้กินครบทุกมื้ออย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย