รามอินทรา 24 เม.ย.- แพทย์ รพ.เอกชน ห่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกลัว รพ.เป็นที่แพร่กระจายเชื้อ ย้ำเบาหวาน-หัวใจ ต้องมารักษาต่อเนื่องลดเสี่ยงเสียชีวิต ขณะที่ รพ.แบ่งโซนดูแลชัดเจน เป็นโซนดูแลผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อหวัด และโซนดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆหรือผู้มาตรวจสุขภาพ พร้อมจัดบริการตรวจโควิด-19 แบบไดรฟ์ธรู
นพ.พิสุทธิ์ พรหมลิขิตชัย ผู้อำนวยการสายแพทย์และกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสินแพทย์ กล่าวถึงความเสี่ยงและคำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่อาจมีความกังวล ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษาและติดตามโรคประจำตัวเดิมที่เป็นอยู่แล้ว หรือโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพียงเพราะกลัวว่าโรงพยาบาลจะเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ ความจริงแล้วผลเสียที่จะตามมาหากไม่ได้เข้ารับการรักษา ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูงควบคุมไม่ดี ถ้าได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติหลายเท่า ส่วนโรคหัวใจ ความดัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่ต้องมารักษาตามนัดเป็นประจำ เพราะถ้าไม่รักษาเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มคนไทย ซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
นพ.พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของโรงพยาบาล ขณะนี้แบ่งโซนในโรงพยาบาลเป็น 2 ส่วนคือ Influenza-like Zoning คือโซนที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อหวัด และ Clean Zoning คือโซนที่ดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่มีอาการหวัดหรือผู้มาตรวจเช็คสุขภาพ โดยแบ่งพื้นที่ในโรงพยาบาล ทั้งส่วนคนไข้ผู้ใหญ่และโรงพยาบาลเด็ก
สำหรับคลินิกผู้ใหญ่ แยกอาคารสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ห่างออกมาจากอาคารหลักโรงพยาบาล 200 เมตร เป็นคลินิกพิเศษตรวจหวัดแบบ Drive-thru Clinic ให้บริการเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจแบบ One-stop Service และสามารถตรวจตรวจโควิด-19 ซึ่งในทุกอาคารที่เปิดใหม่จะมีพื้นที่จอดรถ แยกชัดเจนแต่ละอาคาร เพื่อแยกพื้นที่ปลอดเชื้อ ผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยโรคที่ไม่ติดเชื้อ สามารถเดินทางมาที่โรงพยาบาลได้อย่างสบายใจ โดยเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. มีผู้เข้ารับบริการในแต่ละวันประมาณ 15-20 ราย
พร้อมกันนี้ยังแนะนำแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องมาโรงพยาบาลในสถานการณ์โควิด-19 ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อลดโอกาสรับ-แพร่เชื้อ เมื่อมาโรงพยาบาลให้มีผู้ติดตามน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และเมื่ออยู่บ้านขอให้ออกกำลังกายให้เหมาะสม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง รวมถึงถ้าเป็นไปได้ ให้ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเช้า เพื่อสร้างวิตามินดีจากแสงแดด ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงขึ้น ลดโอกาสการเจ็บป่วยได้ และถึงแม้ว่าโรคระบาดครั้งนี้จะบรรเทาลง แนะนำให้ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเว้นระยะห่าง การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการไอ-จาม รวมถึงการดูแลสุขภาพด้วย .-สำนักข่าวไทย