สถาบันบำราศนราดูร 24 เม.ย.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-กรมควบคุมโรค-สถาบันบำราศนราดูร มั่นใจประสิทธิภาพการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำลาย หรือเสมหะ โดยวิธี “ขาก” นำมาตรวจในห้องปฏิบัติการแบบ PCR ได้ผลแม่นยำร้อยละ 90
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19 ) หรือ ศบค.ให้มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากขึ้น เพื่อการควบคุมป้องกันโรคจะได้มีประสิทธิภาพเต็มที่ กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำวิธีตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการ เก็บตัวอย่างน้ำลายหรือเสมหะ ด้วยวิธี”ขาก” ใส่กระบอก เก็บเชื้อพลาสติก ที่ใส่อาหารเลี้ยงเชื้อเอาไว้ ซึ่งวิธีนี้จะสะดวก ทำได้รวดเร็ว เหมาะสำหรับการตรวจ ในหมู่คน จำนวนมาก ประหยัดทรัพยากร บุคคลและอุปกรณ์การแพทย์ ลดความเสี่ยงการ สัมผัสเชื้อ
สำหรับวิธีตรวจหาเชื้อด้วยการเก็บเสมหะเป็นตัวอย่างนี้ เหมาะสมกับการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนเฉพาะหรือ Active case finding ที่มีผู้ป่วยต้องสงสัยสะสมเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ จ.ภูเก็ต สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน คลัสเตอร์เฉพาะ เช่นบางเขน คลองเตย หรือที่มีผู้ป่วยจำนวนหลักพันขึ้นไป
โดยเมื่อทำการเก็บเสมหะตัวอย่างได้แล้ว จะนำเข้าตรวจ แบบ PCR ในห้องปฏิบัติการ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งข้อดีของการตรวจโดยนำ เสมหะ เป็นตัวอย่าง คือ วิธีเก็บตัวอย่างทำได้ง่ายกว่าการ swap สารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก , ลดการใช้ชุด ppe ป้องกันการติดเชื้อ , ราคาถูก มีความรวดเร็ว , ทำได้ในกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ต้องกังวลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ เช่น เป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาตามแนวชายแดน เป็นต้น
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลว่า เชื้อโควิด-19 มีการฟักตัว 7-14 วัน ดังนั้น การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยระบบ RT PCR จึงเหมาะสมกับการควบคุมป้องกันโรคเชิงรุก มากกว่าการใช้วิธีตรวจหาแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันร่างกาย ด้วยชุดตรวจ rapid test ซึ่งแม้ใช้เวลาในการฟักตัว นานมากกว่า 2 อาทิตย์ก็ยังตรวจหาแอนติบอดีได้เพียง 85% เท่านั้น ซึ่งการตรวจวิธีใหม่โดยใช้เสมหะลำคอ จากการ “ขาก” พบว่าได้ผลแม่นยำ ถึง 90% เมื่อเทียบกับวิธีใช้การเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก
วิธีการโดยให้ผู้เก็บตัวอย่าง “ขาก” เสมหะซึ่งแนะนำให้ทำในตอนเช้าที่ยังไม่มีการรับประทานน้ำหรืออาหาร ล้างมือให้สะอาด เตรียมเปิดปากถุงซิปล็อก 3 ถุง เตรียมเปิดฝากระบอกเก็บน้ำลาย เทอาหารสำหรับเชื้อลงในกระบอก “ขาก” น้ำลายที่อยู่ในลำคอส่วนลึก(เหมือนขากเสลด) ในขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ใส่น้ำลายลงกระบอกและปิดฝาทันทีใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น อาจเก็บใส่กล่องรักษาอุณหภูมินำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่นำมาทดแทน การเก็บตัวอย่างด้วยสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก โดยเจ้าหน้าที่จะประเมินว่าผู้ป่วยต้องใช้วิธีเก็บตัวอย่างแบบใด อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยกลุ่ม PUI ยังคงต้องใช้วิธีswap เหมือนเดิม
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่แรกแรกที่จะนำวิธีนี้ไปใช้ เนื่องจากวิธีนี้มีความเหมาะสมในกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนมากและกลุ่มผู้ป่วย ที่มีนัดผ่าตัดกับแพทย์เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย