สำันกข่าวไทย 22 เม.ย.- “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีการหารือมาตรการต่างๆ รองรับสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรอบการทำงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกำหนด 3 ฉบับ โดยมี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาสาธารณสุข การเยียวยา และการฟื้นฟู ตั้งคณะกรรมการคัดกรอง หารือระเบียบปฏิบัติการใช้เงินตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น โดย ครม.เห็นชอบระเบียบเแล้ว , พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง ตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ โดย ธปท. มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
.
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมที่ลดลง แต่มองว่าอย่าเพิ่งผลีผลาม หลายฝ่ายพยายามขอให้ปลดล็อค ซึ่งต้องระวังถึงที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลด้านสาธารณสุข เพราะต้องตัดสินใจตามข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดล้มเหลว ส่วนการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐี 20 คน เป็นการส่งหนังสือเพื่อสอบถามมาตรการช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรและจะดำเนินการอะไรเพื่อเสริมมาตรการของรัฐบาลที่ออกไปแล้ว ให้เกิดการช่วยเหลือที่กว้างขวางขึ้น ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ขอกู้ยืมเงิน เพราะมีเงินของรัฐบาลอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่าเป็นการส่งจดหมายโดยเปิดเผย ไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ
.
ส่วนการลดค่าไฟนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการเสนอมาตรการลดค่าไฟให้ประชาชน แต่เป็นเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้บริหารทั้ง 3 หน่วยงานในอนาคต ขอให้เห็นใจ รัฐบาลพยายามดูแลอย่างเต็มที่ สำหรับการพิจารณาจะขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่นั้น จะพิจารณาวันที่28 เม.ย.63 ขึ้นอยู่ความร่วมมือ สถิติด้านสาธารณสุข และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานความมั่นคง ดูแลปัญหาการส่งสินค้าของประชาชน ซึ่งมีแนวทางผ่อนปรน แต่อาจยังไม่ทั่วถึง จึงขอให้หน่วยงานในพื้นที่พิจารณา
.
โดยขณะนี้ยังมีการฝ่าฝืนคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำนวนมาก หากประชาชนร่วมมือมากก็จะผ่อนปรนได้มากขึ้น ยืนยันว่าไม่เคยบอกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 1 พฤษภาคม การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ผู้ประกอบการต้องเสนอมาตรการของตัวเองให้รัฐบาลรับทราบ หากมีมาตรการเหมาะสมแล้วก็จะเปิด รัฐบาลต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
.
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ว่า ทำอย่างไรที่จะดูแลประชาชนให้ผ่านวิกฤติไปได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งนี้เห็นใจประชาชน แต่ตอนนี้มาตรการครอบคลุม ไม่อยากให้ติดตามเฉพาะเงินเยียวยาอย่างเดียว
#โฆษกรัฐบาล
https://www.facebook.com/DrNarumonP/photos/a.224893475098339/558760048378345/?type=3&theater
ดูข่าวเพิ่มเติม