ทำเนียบรัฐบาล 21 เม.ย.-นายกฯ ยันไม่ได้ขอเงิน ไม่มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยน 20 มหาเศรษฐี แค่ส่งจดหมายเปิดผนึกขอทราบมาตรการดูแลคนในองค์กร อังคารหน้าเตรียมพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เคยบอกผ่อนปรน 1 พ.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ได้หารือมาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องหลัก ส่วนเรื่องอื่นคืองานในกรอบความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง โดยได้เน้นย้ำทุกกระทรวงให้ขับเคลื่อนทุกมิติของทุกกระทรวง ทั้งงานในหน้าที่และงานที่ศูนย์โควิดได้มีมติดำเนินการไปแล้ว ขอให้ทุกกระทรวงขับเคลื่อนต่อไป
“ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จำนวนไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน คือ การแก้ปัญหาเรื่องการสาธารณสุข การเยียวยา และการฟื้นฟู โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ จัดตั้งคณะกรรมการคัดกรองซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว และหารือร่วมกันแล้วว่าจะมีระเบียบปฏิบัติในการใช้เงินดังกล่าวอย่างไร โดยให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รอบคอบและจำเป็น โดยวันนี้ ( 21 เม.ย.) ครม.เห็นชอบระเบียบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้กระทรวงนำแผนงานต่าง ๆ นำเสนอเข้าครม.ให้ครบถ้วนให้เร็วที่สุดและเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งมาตรการสาธารณสุขและเยียวยาต่าง ๆ ยืนยันว่าผมรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ในจำนวนอีก 4 แสนล้านบาท และ 3. พ.ร.ก.ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยธปท.มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและธปท.ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากผู้ประสบการณ์ความรู้ประกอบการทำงานด้วย
“สถานการณ์ช่วงวิกฤติโควิด-19 ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ แต่ยังต้องดูต่อเพื่อดำเนินการในระยะต่อไป แต่ขออย่าเพิ่งผลีผลาม มีหลายคนเรียกร้องให้ปลดมาตรการ แต่ผมองว่าต้องระวังอย่างถึงที่สุดและฟังข้อมูลจากการแพทย์ ต้องดูว่ามาตรการอื่น ๆ รองรับเพียงพอหรือไม่ ผมไม่อยากให้การตัดสินใจเป็นเพราะแรงกดดัน แต่ขอให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ เพราะหากปลดอะไรเร็วเกินไป เกรงว่าจะแพร่ระบาดมากขึ้น หากสิ่งที่ทำมาล้มเหลวทั้งหมดจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ผมต้องดูแลเป็นพิเศษ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง 20 มหาเศรษฐีในไทยว่า ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อรับทราบว่าดำเนินการช่วยเหลือบุคลากรในแต่ละองค์กรอย่างไรบ้าง เพื่อจะช่วยเสริมในมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ได้จะกู้เงินหรือยืมเงินของเขา รัฐบาลมีเงินอยู่แล้ว
“ขอขอบคุณทั้ง 20 ท่าน การส่งจดหมายโดยเปิดเผยเพราะในห่วงโซ่ของท่านมีคนจำนวนมาก รวมถึงประชาชนด้วย ทราบว่าทุกท่านดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว แค่อยากทราบว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเสริมมาตรการของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อให้สอดประสานกันในการทำงาน ไม่ได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ขอขอบคุณเป็นการล่วงหน้า ไม่ใช่การแข่งขัน บังคับหรือแลกเปลี่ยนใด ๆทั้งสิ้น ไม่ต้องการตรงนั้น แต่ต้องการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งนอกจาก 20 ท่านนี้แล้ว ยินดีรับฟังทุกภาคส่วน แต่คงไม่ได้ไปพบทั้ง 20 ท่านด้วยตนเอง เห็นมีรายชื่อประกาศมาแล้ว ในเอกสารเปิดผนึก มีรายละเอียดไว้ชัดเจนว่าไม่ขอรับเงินบริจาคใด ๆ ทั้งสิ้น ขออย่าไปบิดเบือนก็แล้วกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเรื่องการลดค่าไฟฟ้า ได้รับฟังทุกภาคส่วน ทั้ง กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกำกับดูแลพลังงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วันนี้จึงมีมาตรการเสนอลดค่าไฟให้กับประชาชนโดยทั่วไป ขอให้ทุกคนเห็นใจ เพราะเป็นงบประมาณที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้ในการบริหารต่อไปในอนาคต รัฐบาลพยายามดูแลอย่างเต็มที่ ดังนั้น การพูดจาบิดเบือน ให้ร้ายกัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน และทำให้การทำงานยากและล่าช้าขึ้น
ส่วนการประกาศพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้าว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือและสถิติต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด ส่วนการผ่อนปรนมาตรการ ได้ขอให้ดูแลการใช้ดุลยพินิจการขนส่งสินค้าของภาคประชาชน เพราะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจริง ๆ มีข้อผ่อนปรนอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทั่วถึงและไม่เข้าใจกัน จึงขอให้หน่วยงานพื้นที่พิจารณาด้วย
“การละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีอยู่ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาล ตัวเลขต่าง ๆ ที่ลดลงเกิดจากความร่วมมือของทุกคน ไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว หากร่วมมือกันตัวเลขจะลดลงได้มาก และการผ่อนปรนในอนาคตจะมากขึ้น ยืนยันว่า ไม่เคยประกาศจะเริ่มผ่อนปรนวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เพราะดูตามสถิติด้วยรอบคอบ การจะผ่อนปรนใด ๆ ผู้ประกอบการต้องเสนอมาตรการเข้ามาให้รับทราบว่าจะทำอะไรได้บ้าง เช่น การเตรียมการสถานที่ เจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย มีระยะห่าง ระบุจำนวนคน เป็นต้น ต้องทยอยเปิดได้บางส่วนในระยะต่อไป แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดได้เมื่อไหร่ ขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมไว้ และเสนอมาให้ทราบในส่วนที่ต้องการจะเปิด แต่บางอย่างเมื่อพิจารณาแล้วไม่เหมาะสมจะยังไม่เปิด ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่ที่เดือดร้อนมากกว่าคือสุขภาพ หากล้มตายมากกว่าจะทำอย่างไร” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนผ่านช่วงวิกฤติไปให้ได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในช่วงนี้ ยอมรับว่าเห็นใจและมีมาตรการที่แทบจะครอบคลุมอยู่แล้ว ไม่อยากให้มองในแง่เงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว อย่ามองแค่ว่าแค่นี้มันน้อยไปหรือเปล่า ขอให้ดูว่าเรามีเงินเท่าใด กู้มาเท่าใด ใช้อย่างไร ภาระในวันหน้าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องคิดอย่างรอบคอบ และขอขบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือดูแล ขอให้ดูแลห้วงโซ่องค์กรของตนเอง และดูแลผู้บริโภคอย่างดีที่สุดด้วย.-สำนักข่าวไทย