กรุงเทพฯ 15 เม.ย. – 3 การไฟฟ้า มีคำแนะนำทำงานที่บ้านอย่างไร จ่ายค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้น ด้านรัฐมนตรัพลังงานจ่อพิจารณาลดค่าไฟฟ้าเพิ่ม
ช่วงนี้คนไทยร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แต่หลายคนบ่นจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และมีข้อเรียกร้องจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ลดค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 5 จากที่ภาครัฐประกาศลดแล้วร้อยละ 3 เริ่มจากเดือนเมษายน-มิถุนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า น้อมรับคำเสนอไปพิจารณา โดยค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขณะนี้มีการตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ไม่ได้ปรับขึ้น และหนึ่งในการลดต้นทุนค่าไฟช่วงต่อไป คือ ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีราคาถูกมาใช้ ก็จะมีผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลงอีก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดูหลายมาตรการในการลด, ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะดูเพิ่มเติมว่าเรื่องการลดค่าไฟฟ้าลงร้อยละ 5 ดำเนินการได้หรือไม่
ด้านนายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า 3 การไฟฟ้า กล่าวว่า กฟผ. การการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีความห่วงใยผู้ที่ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่เก็บอาหารปริมาณมาก
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอแนะนำให้หมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากพบว่าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตามมาตรการ 4 ป.คือ “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ปิดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศา จะช่วยประหยัดไฟฟ้าเพิ่มได้ 10% หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ และเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ ที่มีค่าประสิทธิภาพสูงขึ้นก็จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
นางสาวผาสุก สัมปุณณะโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร MEA เปิดเผยว่า อากาศที่ร้อนจัดและการทำงานที่บ้านส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำงานหนักมากขึ้นในเวลาเท่ากันในช่วงปกติ เช่นเครื่องปรับอากาศ การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง ใช้พัดลมยาวนาน ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น เป็นเหตุให้ค่าไฟมากขึ้นตามมาด้วย จึงขอแนะปิดสวิตช์ไฟดวงที่ไม่ใช้ ใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาจำเป็น ปรับเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส แต่หากต้องการความรู้สึกเย็นสบายเท่ากับ 24 องศาเซลเซียส ให้เปิดพัดลมช่วยโดยไม่ต้องลดอุณหภูมิของแอร์ การเปิดแอร์พร้อมพัดลมจะประหยัดไฟได้มากกว่าการลดอุณหภูมิของแอร์ เพราะพัดลมช่วยเพิ่มความเร็วลม เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ทำให้รู้สึกเย็นสบายมากขึ้น ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าของท่านให้อยู่ในสภาพดี หากพบว่าชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ รวมทั้งติดตั้งสายดินพร้อมเครื่องตัดไฟรั่วเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า ควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่ก่อให้เกิดอัคคีภัย เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานเพื่อความปลอดภัยอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้จะเป็นการช่วยประหยัดพลังงานลดค่าไฟฟ้าลงได้
ทั้งนี้ ผลสำรวจการปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนกว่า 50% ปฏิบัติตามมาตรการ“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”และมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาดำเนินการ Work from Home โดย 3 การไฟฟ้า ได้ร่วมกันเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชน พร้อมกำหนดมาตรการและแผนรองรับการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสำคัญ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย