กทม.15เม.ย.- นิสิตมศว เผยผลศึกษา “ปัญหาก้นบุหรี่ ขยะชิ้นเล็ก แต่ผลกระทบไม่เล็กต่อสิ่งแวดล้อม” สามารถพัฒนาเป็นคอนกรีตทนไฟ ทางเลือกใหม่แก้ปัญหาก้นบุหรี่ได้
นางสาวแพรวา รุ่งทิวาสุวรรณ นางสาวจัสมิน มาหา และ นายสุทธิพัฒน์ ประทีปพิชัย นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกันศึกษาเพื่อนำขยะก้นบุหรี่มาพัฒนารีไซเคิลเป็นคอนกรีตทนไฟ โดยผลการศึกษาพบว่า ขยะก้นบุหรี่เป็นขยะที่มักถูกมองข้าม เพราะขนาดเล็กจึงทำให้คิดว่าเป็นขยะที่ไม่อันตรายและไม่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่แท้จริงแล้ว ขยะก้นบุหรี่มีปริมาณมากและส่งผลกระทบต่อธรรมชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขยะพลาสติก ปริมาณขยะก้นบุหรี่ที่ถูกทิ้งโดยประมาณจากยอดการจำหน่ายบุหรี่ในปี 2561 เพียงปีเดียวในประเทศไทย มีจำนวนถึง 18,508.15 ล้านมวน หรือ 3146.39 ตัน และผลการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลกของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ในปี 2561 ประเทศไทยติดอันดับที่ 5 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด เพราะขยะก้นบุหรี่เป็นขยะที่พบมากที่สุดในบริเวณชายหาดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง พฤติกรรมการทิ้งขยะก้นบุหรี่อย่างเกลื่อนกลาดตามที่สาธารณะของผู้สูบบุหรี่ ทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมี เช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง และสารก่อมะเร็งกว่า 60 ชนิด หากปนเปื้อนในดินจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชและปนเปื้อนในน้ำ ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ ก้นบุหรี่ผลิตจากเซลลูโลสอะซิเตท หรือ พลาสติกที่ผลิตจากพืช จึงใช้ระยะเวลาการย่อยสลายนานถึง 10 ปี ดังนั้นหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่ ขยะก้นบุหรี่จะถูกสะสมในปริมาณมากจนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้สูบบุหรี่ ของ นิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พบว่า ร้อยละ 36 ของผู้สูบบุหรี่มีความรู้ถึงผลกระทบของก้นบุหรี่ต่อสิ่งแวดล้อมในเกณฑ์น้อย และ ร้อยละ 86 รู้สึกว่าการทิ้งขยะก้นบุหรี่ลงถังสำหรับทิ้งขยะก้นบุหรี่เป็นเรื่องยุ่งยากแม้ถังสำหรับทิ้งขยะก้นบุหรี่มีระยะห่างออกไปเพียงเล็กน้อย อีกทั้ง ร้อยละ 87.3 ของผู้สูบบุหรี่มีพฤติกรรมการทิ้งก้นบุหรี่โดยการเหยียบลงพื้น นอกจากนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าขยะก้นบุหรี่สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ การแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการรีไซเคิลจึงเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหานี้
ผู้ศึกษาจึงได้พัฒนานำขยะก้นบุหรี่ไปรีไซเคิลเป็นคอนกรีตทนไฟ เพราะคุณสมบัติของเซลลูโลสอะซิเตทจะช่วยสร้างความเหนียวและไม่ติดไฟ สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของคอนกรีตทนไฟ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่แตกหักง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการไล่น้ำในคอนกรีตทนไฟ ซึ่งมักจะมีปัญหาแตกหักเสียหาย เพราะการคายน้ำ แต่เมื่อเติมเส้นใยจากก้นบุหรี่ทำให้คายน้ำได้เร็ว แต่ยังคงความแข็งอยู่ สามาถพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้กับผู้สนใจต่อไป จึงเป็นการลดปริมาณขยะได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย