ยังไม่พบหลักฐาน : ไทยพบคนติดเชื้อโควิด-19 จากศพ | ชัวร์ก่อนแชร์

สำนักข่าวไทย 15 เม.ย. 63 – >> FACTCHECK << ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ | 15 เม.ย. 63 02.41 น.
ยังไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้ : กรณีสื่อนอกตีข่าว ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากศพ
ตามที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า มีนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย รายงานการพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่รับเชื้อโควิด-19 จากศพ นั้น
:: บทสรุป ::
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอจะเชื่อได้ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริง เนื่องจากมีหลายประเด็นน่าสงสัย ทั้งด้านความน่าเชื่อถือในแหล่งที่มาของข้อมูล และสภาพการณ์แห่งข้อเท็จจริง
ดังนั้น จึงยังไม่ควรเชื่อ และ ยังไม่ควรแชร์ต่อ

:: กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ::
:: ส่วนที่ 1 :: สำรวจข้อมูล
เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 14 เมษายน 2563 ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้รับการแจ้งเตือนจากเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง CoFact-CoForm เกี่ยวกับข่าวของสำนักข่าว Business Insider ระบุว่า “มีผู้เสียชีวิตรายแรก เพราะรับเชื้อโควิด-19 จากศพ บุคคลนั้นคือ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพในประเทศไทย – จากคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์” (“The first case of someone dying after catching COVID-19 from a dead body was a forensic worker in Thailand, scientists say” https://www.businessinsider.com/first-death-coronavirus-healthcare-caught-from-dead-body-thailand-2020-4)


เนื้อหาข่าวระบุว่า นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 คน ในประเทศไทย รายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หลังรับเชื้อมาจากศพ โดยอ้างอิงจากจดหมายที่ส่งถึงบรรณาธิการวารสารวิชาการนิติเวชวิทยา “the Journal of Forensic and Legal Medicine” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1752928X20300718)

สำนักข่าว Business Insider ยังระบุด้วยว่า สื่อแรกที่รายงานข่าวเรื่องจดหมายฉบับดังกล่าว คือ BuzzFeed ซึ่งเมื่อตรวจสอบก็พบการนำเสนอข่าวจริง ภายใต้พาดหัวข่าวที่แตกต่างไป คือ “Scientists Have Reported The First Case Of The Coronavirus Spreading From A Dead Body” หรือ “นักวิทยาศาสตร์รายงานกรณีแรกที่มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากศพ” เขียนโดยผู้สื่อข่าว Dan Vergano เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 16.07 น.ตามเขตเวลาตะวันออก (ET) ซึ่งตรงกับเวลา 03.07 น.วันที่ 14 เม.ย.2563 ตามเวลาในประเทศไทย

นอกจากนั้น ในท่ามกลางความตื่นตัวของสื่อตะวันตกเกี่ยวกับข่าวการจัดการศพผู้เสียชีวิตนั้น เมื่อเราค้นหาเพิ่มเติมใน Google ยังพบการรายงานข่าวที่อ้างถึงประเทศไทยนี้ บนสื่อชื่อดังในต่างประเทศอีกหลายแห่ง ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อาทิ
The Telegraph : Thai scientists warn of risk of coronavirus infection from dead bodies
(https://www.telegraph.co.uk/news/2020/04/14/thai-scientists-warn-risk-coronavirus-infection-dead-bodies/)
Fox News : Coronavirus may have spread from dead body: report
(https://www.foxnews.com/health/coronvirus-could-spread-dead-body-following-report)
The Sun : DEAD SPREAD Coronavirus scientists confirm first spread of the disease from a dead body
(https://www.the-sun.com/news/677949/coronavirus-scientists-confirm-spread-disease-dead-body/)
Newsweek : CORONAVIRUS SPREADS FROM DEAD BODY IN FIRST REPORTED CASE OF ITS KIND (https://www.newsweek.com/coronavirus-dead-body-spread-virus-1497674)
The Science Times : Scientists Confirm First Case of Coronavirus Spreading From Corpses (https://www.sciencetimes.com/articles/25287/20200413/scientists-confirm-first-case-coronavirus-spreading-corpses.htm)
LATIN TIMES : Thailand Reports Its First Case Of Coronavirus Spreading Through Dead Bodies (https://www.latintimes.com/thailand-reports-its-first-case-coronavirus-spreading-through-dead-bodies-457698)


ทั้งนี้ เนื้อหาข่าวทุกแห่ง อ้างอิงไปที่แหล่งข้อมูลเดียวกัน คือ จดหมายถึงบรรณาธิการ หรือ Letter to the Editor ในวารสารทางวิชาการ Journal of Forensic and Legal Medicine เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ScienceDirect (https://doi.org/10.1016/j.jflm.2020.101964) และ ข้อความที่ปรากฏในข่าวต่างประเทศ ล้วนนำมาจากบางส่วนบางตอนของเนื้อหาจดหมายที่ตีพิมพ์นี้ทั้งสิ้น
“Letter to the editor เป็นรูปแบบหนึ่งในการเขียนแสดงข้อมูลวิชาการ เพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งงานอื่น ๆ หรือจะแชร์ผลวิจัยของตนในรูปแบบย่อก็ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องจริง ทำเอง หรือเป็นเจ้าของ” แหล่งข่าวซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งอธิบาย

:: ส่วนที่ 2 :: เนื้อหาในจดหมาย Letter to the Editor ::

สำหรับจดหมายดังกล่าว มีหัวข้อว่า “COVID-19 in forensic medicine unit personnel: Observation from Thailand” ระบุชื่อผู้เขียน 2 ราย ได้แก่
Won Sriwijitalai จาก RVT Medical Center, Bangkok, Thailand
และ Viroj Wiwanitkit จาก Dr DY Patil University, Pune, India และ Hainan Medical University, Haikou, China

วารสารให้ข้อมูลว่า ได้รับต้นฉบับเมื่อ 6 เมษายน 2563 และมีการปรับแก้ เมื่อ 8 เมษายน 2563 ก่อนจะได้รับการยอมรับเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 และตีพิมพ์ฉบับออนไลน์เมื่อ 11 เมษายน 2563

เนื้อหาจดหมายฉบับนี้มี 2 ย่อหน้า ความยาวรวมทั้งสิ้น 298 คำ ย่อหน้าแรกกล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีความท้าทายต่อชุมชนในวงการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ในหน่วยงานนิติเวชศาสตร์ ยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อมาก่อน ในย่อหน้าที่สอง ผู้เขียนทั้งสองกล่าวถึงสิ่งที่สังเกตพบในประเทศไทย ว่า ในขณะที่เขียนจดหมาย (20 มีนาคม 2563) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 272 คน โดยหนึ่งในผู้ติดเชื้อเป็น forensic practitoner หรือ นักนิติเวช ซึ่งทำงานในกรุงเทพฯ


“แม้ว่าผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อได้จากทั้งสถานที่ทำงาน หรือ จากการแพร่เชื้อในชุมชนก็ได้ แต่ในช่วงเวลาที่มีการรายงานเคสนี้ ผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนใหญ่รับเชื้อมาจากต่างประเทศ และการระบาดภายในประเทศไทยยังอยู่แค่ในวงจำกัด” เนื้อหาในเอกสารระบุและชี้ว่า “มีโอกาสน้อยที่นักนิติเวชศาสตร์จะสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่มีโอกาสที่เขาจะสัมผัสกับตัวอย่างชีวภาพ และ ศพ”

“ในปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีศพที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จำนวนเท่าใด เพราะยังไม่ใช่แนวปฏิบัติพื้นฐานในประเทศไทย ที่จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในร่างผู้เสียชีวิต” เอกสารระบุ

ในตอนท้ายของจดหมาย ให้คำแนะนำว่า “ไม่ว่าอย่างไร การป้องกันการติดเชื้อ และการเฝ้าระวังอย่างครอบคลุม เป็นเรื่องจำเป็น นักนิติเวชศาสตร์ จะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงชุดป้องกัน ถุงมือ แว่น หมวก และหน้ากาก” พร้อมทั้งแนะนำให้มีการฆ่าเชื้อในห้องชันสูตรพลิกศพเช่นเดียวกับห้องผ่าตัดด้วย

“According to our best knowledge, this is the first report on COVID-19 infection and death among medical personnel in a Forensic Medicine unit.” คือประโยคสุดท้ายของจดหมายฉบับนี้ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า มีการยืนยันการติดเชื้อและการเสียชีวิตในท่ามกลางบุคลากรในหน่วยงานนิติเวชวิทยา

:: ส่วนที่ 3 :: >> FACTCHECK : ผู้เขียนชาวไทยเป็นใคร ? <<

“The disinfection procedure used in operation rooms might be applied in pathology/forensic units too,” wrote the authors, Won Sriwijitalai of the RVT Medical Center in Bangkok and Viroj Wiwanitkit of China’s Hainan Medical University.

เมื่อนำชื่อบุคคลผู้เขียนทั้งสองไปค้นหาเพื่อยืนยันตัวบุคคล พบว่า ผู้เขียนร่วม คือ Viroj Wiwanitkit มีชื่อตรงกับแพทย์ในประเทศไทย ตามที่ปรากฏบนเว็บไซต์ภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (http://anti-aging.mfu.ac.th//admin/uploadCMS/staff/7tSat34052.นพ.วิโรจน์%20ไววานิชกิจ.pdf) และตามประวัติที่ระบุก็มีตำแหน่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรายแรก Won Sriwijitalai ไม่พบว่าตรงกับชื่อหรือนามสกุลภาษาไทยของนักวิชาการบุคคลใด ๆ และเมื่อนำหน่วยงาน RVT Medical Center ไปค้นหานั้น ก็ยังไม่พบว่ามีหน่วยงานนี้ตั้งอยู่ที่ใด

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ส่งอีเมล์ไปยัง Won Sriwijitalai เพื่อ สอบถามเพิ่มเติมตามอีเมล์ที่ระบุไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด (หากมีคำตอบจะนำมารายงานเพิ่มเติม)

จากการสืบค้นเพิ่มเติม พบจดหมายถึงบรรณาธิการในวารสารทางวิชาการอีกหลายฉบับ ที่เขียนโดยผู้แต่งคู่เดียวกัน รวมทั้งจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งไปยังวารสาร German Journal of Sports Medicine
(https://www.germanjournalsportsmedicine.com/archiv/archive-2020/issue-4/letter-to-the-editor-covid-19-in-a-thai-boxing-area-in-thailand/)

ในเอกสารนี้ เราพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Won Sriwijitalai โดยได้มีการให้ที่อยู่และอีเมล์ คือ “RVT Medical Center Rama 9 Road Bangkok 10140 Thailand wonsriwi@rvtmed.co.th “

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พบข้อเท็จจริงและข้อสังเกต ดังนี้

* ยังคงค้นไม่พบสถานที่ซึ่งมีชื่อว่า “RVT Medical Center” บนถนนพระราม 9
* รหัสไปรษณีย์ 10140 เป็นพื้นที่ของที่ทำการไปรษณีย์ราษฎร์บูรณะ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนพระราม 9 ประมาณ 26 กิโลเมตร
* ไม่มีที่อยู่เว็บไซต์ rvtmed.co.th อยู่ในสารบบชื่อเว็บไซต์แต่อย่างใด เมื่อสืบค้นกับ ทีเอชนิค (THNIC) ผู้รับจดชื่อโดเมน .th พบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวยังว่าง ไม่มีผู้ถือครอง
* เมื่อที่อยู่เว็บไซต์ไม่มีอยู่จริง อีเมล์ wonsriwi@rvtmed.co.th จึงใช้การไม่ได้โดยปริยาย

นอกจากนั้น ยังพบรายการของวารสารทางวิชาการอีกหลายฉบับที่มีการตีพิมพ์ผลงานเขียนในหลากหลายหัวข้อ ซึ่งมีผู้แต่งร่วมชื่อว่า Viroj Wiwanitkit กับบุคคลอื่น ๆ ที่สังกัดในหน่วยงานที่ก็ไม่สามารถค้นพบสถานที่ดังกล่าวว่ามีอยู่จริง เช่น
จดหมายเรื่อง “COVID-19 in medical personnel: observation from Thailand” ในวารสาร The Journal of Hospital Infection (https://doi.org/10.1016/j.jhin.2020.02.016) เขียนโดย B. Joob และ V. Wiwanitkit โดยระบุที่อยู่ Sanitation 1 Medical Academic Centre, Bangkok 10140, Thailand ซึ่งก็ไม่สามารถค้นพบข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลหรือสถานที่ดังกล่าว

จดหมายเรื่อง “Imported cases of 2019-novel coronavirus (2019-nCoV) infections in Thailand: mathematical modelling of the outbreak” ในวารสาร Asian Pacific Journal of Tropical Medicine
(http://www.apjtm.org/article.asp?issn=1995-7645;year=2020;volume=13;issue=3;spage=139;epage=140;aulast=Sookaromdee;type=0) เขียนโดย Pathum Sookaromdee และ Viroj Wiwanitkit พร้อมระบุสถานที่ติดต่อคือ TWS Medical Center, Bangkok Thailand ซึ่งก็ไม่สามารถค้นพบสถานที่ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลเท่าที่สามารถตรวจสอบได้ ยังไม่พบหลักฐานว่า ผู้แต่งหลักของจดหมายฉบับดังกล่าว และหน่วยงานต้นสังกัด นั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่

และเป็นที่น่าสังเกตว่า หากนำชื่อผู้แต่งหลัก และ ชื่อหน่วยงานทั้ง 3 แห่งข้างต้นไปค้นเพิ่มเติม ก็จะพบแต่เพียงชื่อหน่วยงานปรากฏอยู่ในวารสารวิชาการต่าง ๆ ในพฤติการณ์คล้าย ๆ กันนับสิบแห่ง

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ฯ ได้สอบถามแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับผู้แต่งหลัก (Won Sriwijitalai) ไม่พบว่ามีบุคคลใดรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ทั้งตัวบุคคลและหน่วยงานที่กล่าวอ้าง ส่วนผู้แต่งร่วมที่มีชื่อระบุไว้อีกท่านหนึ่ง ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด

ขณะที่แพทยสภายืนยันว่าพร้อมจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป


:: ส่วนที่ 4 :: >> FACTCHECK : พบการติดเชื้อโควิด-19 จากศพ ? <<

จากข้อมูลที่ผู้เขียนระบุรายละเอียดไว้ในจดหมาย ย้อนไป ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 ซึ่งประเทศไทยมีผู้ป่วย 272 รายนั้น

จากการตรวจสอบพบว่า ประเทศไทยยืนยันผู้ติดเชื้อสะสม 272 ราย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 1 ราย (พนักงานขาย ชายไทย อายุ 35 ปี ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2563)

โดยก่อนหน้านั้น 2 วัน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 มีการรายงานข่าว พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 นาย (https://www.tnnthailand.com/content/32295) ข่าวรายงานว่า
“…กลุ่มที่ 3 ติดมาจากสนามมวย 2 คน เป็นข้าราชการตำรวจสน.พระราชวัง 1 นาย และงานนิติเวช 1 นาย โดยทั้ง 2 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ…”

กรณีดังกล่าว เป็นครั้งเดียวที่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสายงานนิติเวชศาสตร์ ปรากฏเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และข้อมูลที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ ระบุว่า บุคคลดังกล่าว ติดเชื้อจากสนามมวย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มก้อนการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมนับร้อยราย จากการเกี่ยวข้องกับการแข่งขันชกมวยเมื่อช่วงวันที่ 6 มีนาคม 2563

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยมีการยืนยันข้อมูลจากการสอบสวนโรคว่า เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว หรือผู้ป่วยรายอื่นใด มีการติดเชื้อจากศพแต่อย่างใด

:: ส่วนที่ 5 :: >> สรุป : ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ <<
1. ข้อมูลที่มีการระบุใน “จดหมายถึงบรรณาธิการ” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเดียวของข่าวที่รายงานในต่างประเทศว่า มีนักนิติเวชในประเทศไทย ติดเชื้อโควิด-19 จากศพ นั้น มิได้มีการยกหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอ ที่จะเชื่อมโยงหรือสรุปได้เช่นนั้น

2. ขณะที่ผู้ติดเชื้อจากหน่วยงานนิติเวชรายเดียวที่ปรากฏเป็นข่าวจากแหล่งข่าวทางการนั้น ก็มีการยืนยันว่า ติดเชื้อจากสนามมวย
3. ไม่สามารถติดตามยืนยันตัวบุคคลของผู้แต่งหลักของจดหมายฉบับนี้ได้ รวมทั้งหน่วยงานสังกัดที่กล่าวอ้าง ก็ไม่พบว่ามีอยู่จริง ทั้งสถานที่อยู่ทางกายภาพ และ ที่อยู่เว็บไซต์
ดังนั้น จึงยังไม่ควรเชื่อ และ ยังไม่ควรแชร์ต่อ


 >> เปิดรับคำชี้แจงและเบาะแสเพิ่มเติม <<

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ยินดีเปิดรับเบาะแส หรือ คำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะข้อมูลที่จะหักล้างหรือเสริมเติมกับข้อเท็จจริงที่ค้นพบข้างต้น

ทางศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ พร้อมปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อให้ประชาชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้รับความกระจ่างในประเด็นที่น่าหวั่นวิตกนี้โดยเร็ว
กรุณาส่งข้อมูลเข้ามาที่ comment หรือ inbox ของ Facebook ชัวร์ก่อนแชร์ (https://facebook.com/SureAndShare)
หรือทางอีเมล์ sureandshare@gmail.com
รวมทั้งช่องทางติดต่ออื่น ๆ ของเรา
Twitter.com/SureAndShare
LINE @SureAndShare
15 เมษายน 2563
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
#ชัวร์ก่อนแชร์ #CoronaVirusFacts


ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เมียติด GPS รถผัว ตามง้อถึงบ้าน ฝ่ายชายเมิน ยิงดับ

ภรรยาติด GPS รถสามี ตามง้อไม่สำเร็จ ซัดด้วยลูกโม่ตายคาใต้ถุนบ้าน คาดปมทะเลาะหึงหวง คิดจบชีวิตตัวเองตาม แต่พ่อสามียึดปืนไว้ทัน

ครูสูญเงิน 1.2 ล้านบาท มิจฉาชีพหลอกเป็นที่ดิน-จนท.ธนาคาร

ครูสาวชาวอุบลราชธานี ถูกมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ธนาคาร ใช้เบอร์ธนาคารโทรหาจึงหลงเชื่อ สูญเงินกว่า 1.2 ล้านบาท

สุราษฎร์ฯ คลื่นลมแรง น้ำทะเลหนุนสูงท่วมบ้าน-รีสอร์ต

ฝนตกหนัก-คลื่นลมแรง น้ำทะเลหนุนสูงซัดบ้านพัก-รีสอร์ต อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พังเสียหาย 4 หลัง เตือนเรือประมงงดออกจากฝั่ง

New threats in Los Angeles as wildfire switches direction

ไฟป่าแอลเอเปลี่ยนทิศสร้างปัญหาใหม่

ลอสแอนเจลิส 12 ม.ค.- รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐเกิดภัยคุกคามใหม่วานนี้ เมื่อไฟป่าที่โหมไหม้เผาหลายพื้นที่ทั่วเทศมณฑลลอสแอนเจลิสหรือแอลเอเคาน์ตี้ได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องสั่งอพยพประชาชนเพิ่มเติม และกลายเป็นปัญหาท้าทายใหม่สำหรับทีมนักดับเพลิง พื้นที่เขตแคลิฟอร์เนียใต้เผชิญไฟป่ามาตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม โดยเกิดไฟป่าพร้อมกัน 6 จุดทั่วแอลเอเคาน์ตี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 11 คน  ผู้สูญหาย 13 คน  บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเสียหายหรือถูกทำลายรวมแล้วกว่า 10,000 หลัง คาดว่าความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยได้อย่างละเอียด ขณะนี้ยังคงมีประชาชน 153,000 คนอยู่ภายใต้คำสั่งอพยพ และอีก 166,800 คน เสี่ยงต้องอพยพเนื่องจากมีการประกาศเคอร์ฟิวในทุกพื้นที่ที่มีการอพยพประชาชนหนีไฟป่า ขณะเดียวกันเครื่องบินกองทัพอากาศของเม็กซิโกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐเมื่อวานนี้ เพื่อนำทีมบุคคลากร 74 คนจากกองทัพบกและคณะกรรมาธิการป่าไม้แห่งชาติ ไปช่วยปฏิบัติการดับไฟป่าที่กำลังลุกไหม้ลามไม่หยุดทั่วเขตแคลิฟอร์เนียใต้ ภารกิจด้านมนุษยธรรมดังกล่าวครอบคลุมทั้งปฏิบัติการดับไฟป่าและปกป้องพลเรือน ขณะที่กงสุลเม็กซิโกในเมืองแอลเอประกาศไม่ปิดทำการและเสนอให้ที่พักพิงกับผู้ประสบภัยชาวเม็กซิโก ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นผู้อพยพหรือไม่ ปัจจุบันมีชาวเม็กซิโกหรือลูกหลานชาวเม็กซิโกอาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของประชากรทั้งรัฐ.-820(814).-สำนักข่าวไทย

ข่าวแนะนำ

น้ำค้างแข็ง

หนาวสะท้าน จ.เลย แม่คะนิ้งเกาะหลังคารถ-ยอดหญ้า

หนาวสะท้าน จ.เลย แม่คะนิ้งเกาะหลังคารถ-ยอดหญ้า ขณะที่พื้นราบหนาวไม่แพ้กัน อุณหภูมิลดเหลือ 6-7 องศาฯ ส่วนที่พิษณุโลก บ้านร่องกล้า อุณหภูมิยอดหญ้าลบ 2 องศาฯ และที่บึงกาฬ ความหนาวกระทบวิถีชาวบ้าน ลมแรงทำไฟไหม้บ้าน

เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ครม.​อนุมัติหลักการ พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

นายกฯ​ เผย​ ครม.​อนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กฤษฎีกายันไม่ขวาง​ ไม่ต้องยกร่างใหม่ แต่จะไปปรับคำให้คล้องกับที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ชี้เกิดเร็วดีเพื่อประโยชน์ประเทศ

ฝากขังจ่าเอ็ม

ฝากขัง “จ่าเอ็ม กองเรือ” พร้อมค้านประกันตัว

ฝากขัง “จ่าเอ็ม กองเรือ” สวมเกราะ หมวกกันกระสุน พร้อมอรินทราช 26 คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอดทาง เจ้าตัวสีหน้าเรียบเฉย

Satellite images show Palisades Fire

ไฟป่าแอลเอเหลือเผาไหม้รุนแรง 3 จุด

ไฟป่าในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส หรือแอลเอเคาน์ตี้ ของสหรัฐ ยังเหลือลุกไหม้รุนแรงอยู่ 3 จุด ภัยคุกคามจากไฟป่ายังคงสูงจนถึงวันพุธ เนื่องจากกระแสลมพัดกระโชกแรง