กรุงเทพฯ 10 เม.ย.- เพจพรรคการเมืองดีของ กกต. โพสต์เตือนพรรคการเมือง -ส.ส. บริจาคเงินช่วยแก้โควิด-19 ต้องคำนึงถึงกฎหมาย พรรคเกิน 3 ล้าน ส.ส.เกิน 3 แสน ต้องนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งต่อไป ส.ส.เขตบริจาคนอกเขตรวมเป็นค่าใช้จ่ายพรรค
เพจเฟซบุ๊กพรรคการเมืองดี การเมืองดี บ้านเมืองดี สร้างการเมืองที่ดีด้วยพลเมือง ซึ่งอยู่ในการดูแลของด้านกิจการพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ข้อความ ให้ความรู้กรณีที่ขณะนี้มีการเรียกร้องให้พรรคการเมือง ส.ส.บริจาคเงินเดือน เพื่อช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด- 19 ว่า ในทางกฎหมาย ส.ส.หรือ พรรคการเมืองช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติได้ โดยพรรคการเมืองสามารถช่วยเหลือ ในแต่ละโอกาสเป็นเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือในแต่ละโอกาสได้ไม่เกิน 3 แสนบาท แต่ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้นำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป
ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ คือ ต้องนำเงินทั้งจำนวนที่ให้เกิน ไปรวมเป็นค่าใช้จ่าย เช่น พรรคการเมืองให้เงินช่วยเหลือ 3,500,000 บาท หรือ กรณี เป็น ส.ส. ให้เงินช่วยเหลือ 350,000 บาท ก็ต้องนำเงิน 3,500,000 บาท หรือ 350,000 บาทไปรวมเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เอาเฉพาะส่วนที่เกินไปรวม แต่หากการช่วยเหลือของพรรคการเมือง ไม่เกิน 3 ล้าน และของ ส.ส.ไม่เกิน 3 แสน ก็ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ส่วนพรรคการเมืองหรือ ส.ส.จะให้เกินเป็นจำนวนเท่าใด ให้คำนึงถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา ที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินพรรคละ 35 ล้านบาท แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาทเป็นแนวทาง
ทั้งนี้ในส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต มีเงื่อนไขที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม คือ เป็นการให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน หรือ นอกเขตเลือกตั้งของตน เพราะจะมีผลทางกฎหมายต่างกัน โดยเงินที่พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ความช่วยเหลือนอกเขตเลือกตั้งของตน กฎหมายก็กำหนดให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง แต่สำหรับ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหากให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของ ส.ส.ผู้นั้น โดยนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือพรรคการเมืองสามารถศึกษาจาก พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการให้ตามประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป พ.ศ. 2561
เมื่อถึงคราวการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะได้รายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เกินวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่ กกต.กำหนด.-สำนักข่าวไทย