ทำเนียบฯ 7 เม.ย. – ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาเฟส 3 ขยายเวลาช่วยเหลือ 5 พันบาท นาน 6 เดือน เปิดทางคลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้ ธปท.นำเงินช่วยเหลือ 9 แสนล้านบาท ใช้เงินเยียวยาปัญหาโควิดรวม 1.9 ล้านล้านบาท สำนักประมาณเสนอแก้ไข พ.ร.บ.โอนงบปี 63 เยียวยาโควิด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 ต้องใช้เงินทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้ด้านสาธารณสุขและแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งเงินช่วยเหลือแรงงานอิสระ 6 เดือน การช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 600,000 ล้านบาท แม้จะตั้งวงเงินเอาไว้ แต่การกู้เงินดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นจะไม่กู้จนเต็มวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และจะไม่กู้เงินมากองเอาไว้ จะทยอยใช้ตามแผนงาน กำหนดระยะเวลากู้เงิน 1 ปี 6 เดือน หรือกำหนดกู้เงินได้ถึง 30 กันยายน 2564
รวมทั้งการใช้เงินกู้ดังกล่าวมาใช้สำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครอบคลุมเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ระหว่างแรงงานกลับไปอยู่ต่างจังหวัดจำนวนมากขณะนี้ เพื่อเน้นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ผ่านความร่วมมือทั้งกระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และเครือข่ายภาคเอกชน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ขั้นตอนการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย คาดว่าบังคับใช้ช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อจัดแบ่งเงินกู้ออกสู่ระบบได้ต้นเดือนพฤษภาคมนี้
โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองแผนลงทุนการช่วยเหลือ เพื่อคอยพิจารณาแผนลงทุน สำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 ของแต่ละกระทรวง เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบ กรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องติดตาม ประเมินผล เพื่อรายงาน ครม.รับทราบต่อเนื่อง และต้องรายงานให้รัฐสภารับทราบภายใน 60 วัน หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟท์โลน เพื่อดูแลภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อนำเงินออกมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท และการออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ดูแลตลาดตราสารหนี้วงเงินรวม 400,000 ล้านบาท เพื่อตั้งกองทุนรวม BSF หวังดูแลตลาดตราสารหนี้ ด้วยการให้ ธปท.เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว กำหนดให้ ธปท.เข้าไปลงทุนร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 เป็นของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยเป็นกองทุนรวมที่มีศักยภาพ โดยจะพิจารณาเป็นรายไปตามความเหมาะสม
ยอมรับว่าหลังการออก พ.ร.ก.กู้เงิน กระทรวงการคลังพร้อมหารือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธปท.ต้องเสนอคณะกรรมการวินัยทางการเงินการคลัง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะการกู้เงินเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 57 ในปี 2564 ใกล้ชนเพดานกรอบวินัยการเงินการคลังร้อยละ 60 เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ยอมรับว่าหากอัดฉีดเงินช่วยเหลือครั้งนี้ 1.9 ล้านล้านบาท อาจช่วยบรรเทาให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ต้องติดลบมากตามที่ ธปท.ประเมินไว้ติดลบร้อยละ 5.3 ในปี 2563
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ผ่านธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งเปิดทางให้ Non Bank ยื่นกู้ซอฟท์โลน 150,000 ล้านบาทของธนาคารออมสินร้อยละ 2 เข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาระหนี้เช่าซื้อ การผ่อนชำระหนี้ส่วนบุคคล
นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขยายระยะเวลามาตรการเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากเดิมให้ผู้ผ่านการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือน จากวงเงิน 15,000 บาท เพิ่มเป็น 30,000 บาท โดยผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนแล้วจะได้รับเยียวยาต่อเนื่อง 6 เดือน ขณะนี้ระบบคัดกรองจะเริ่มจ่ายเงินเยียวยาวันที่ 8 เมษายนนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิ์ 9 ล้านคน ส่วนมาตรการดูแลและเยียวยาภาคเกษตร สำนักงบประมาณ จัดเตรียมงบประมาณเอาไว้รองรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและโควิด ธ.ก.ส.เตรียมชี้แจงแนวทางออกมาเร็ว ๆ นี้
สำหรับการใช้งบกลางปี 2563 ขณะนี้ใช้ไปแล้วสำหรับแก้ปัญหาโควิด วงเงิน 90,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณ จึงเสนอ ครม.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณปี 2563 เพื่อโอนงบจากหลายหน่วยงานนำมารวมเข้าเป็นงบกลางสำหรับแก้ปัญหาโควิด-19 เตรียมเสนอรายละเอียดในที่ประชุม ครม.เร็ว ๆ นี้ การแก้ไข พ.ร.บ.งบปี 2563 สภาเปิดวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ส่วนงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เสนอให้ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ปรับการใช้งบให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาโควิด เพราะขณะนี้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย
