ภูเก็ต 7 เม.ย.- ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต ให้ความมั่นใจระบบการดูแลรักษา แม้มีบุคลากรการแพทย์ต้องกักตัวกว่า 100 คน เสี่ยงโควิด-19 ขณะดูแลอาการบาดเจ็บชายฮังการีก่อนเสียชีวิต ด้านผู้ตรวจ สธ.เขตสุขภาพที่ 11 ยอมรับการสอบสวนโรคในภูเก็ตทำยากกว่าจังหวัดอื่น ชี้เป็นเมืองท่องเที่ยวต้องใช้มาตรการเชิงรุกปิดเมืองค้นหา
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ประจำวันที่ 6 เม.ย.2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 3 ราย รวมสะสม 126 ราย เสียชีวิต 1 ราย (จากสาเหตุอื่น) ส่วนผู้ป่วยรักษาหายและกลับบ้านแล้ว 36 ราย รอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 110 ราย
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวฮังการี วัย 25 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนและมีการอาการโรคปอดติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วยว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ขณะเข้ารับการรักษาไม่ได้ให้ข้อมูลไปพื้นที่เสี่ยงมาก่อน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาชายฮังการีก่อนจะเสียชีวิต จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อถึง 112 ราย และต้องกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ รวมทั้งเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งเพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อ จากการตรวจรอบแรก จำนวน 94 ราย ผลออกมาแล้วไม่พบเชื้อ ที่เหลือยังรอผลตรวจ อย่างไรก็ตาม บุคลากรเหล่านี้ยังต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน และส่งตัวอย่างไปตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้ง
“การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องพักงาน 112 คน ไม่มีผลต่อการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตมีบุคลากรในสังกัดทั้งหมด 500 คน มีบุคลากรที่สามารถมาช่วยในภารกิจของการพยาบาลได้หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นแผนกแพทย์แผนไทย วิทยาศาสตร์ฟื้นฟูหรือกายภาพบำบัด นักวิชาการสาธารณสุข เราก็นำบุคลากรต่าง ๆ มาใช้ มาช่วยที่หน้างาน ช่วยสกรีนคนไข้ ส่วนบุคลากรการพยาบาลเองก็มีการบริหารจัดการ เปลี่ยนคนจากตึกต่าง ๆ มาปฏิบัติราชการแทน ส่วนแพทย์ขณะนี้มีอยู่ 150 คน ยังพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยทางโรคทั่วไปและโควิด-19 ได้ ไม่มีปัญหาอะไร” นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว
ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ต ภายหลังมีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การสอบสวนโรคในภูเก็ตเป็นเรื่องท้าท้ายมาก ต้องใช้การค้นหาเชิงรุก ด้วยการปิดเมืองค้นหาผู้ที่อยู่ในข่ายเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวมีชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ออกไปทำกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากกว่าพื้นที่อื่น เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วสามารถที่จะเฝ้าสังเกตอาการผู้ใกล้ชิดเป็นเวลา 14 วัน แต่สำหรับภูเก็ตทำในรูปแบบเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะสภาพของเมืองและคนที่อยู่ในเมืองแตกต่างจากพื้นที่อื่นในภาคใต้ตอนบนทั้ง 7 จังหวัด ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11
“เริ่มจากพื้นที่ป่าตอง มีการลงพื้นที่สแกนสอบสวนโรค โดยเฉพาะซอยบางลา เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. และวันที่ 5-7 เม.ย. เป็นเวลา 4 วัน สามารถสอบสวนโรคได้แล้วประมาณ 2,000 คน ผลจากห้องแล็บปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อประมาณ 3-5% จากจำนวนผู้ที่ทำการคัดกรองทั้งหมด เช่น ส่งไป 300 ราย มีผู้ติดเชื้อ 20 ราย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในภูเก็ตเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5 วันนี้ แต่หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง หลังจากค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่ป่าตองแล้วเสร็จ จะดำเนินการในพื้นที่รอบ ๆ ป่าตองต่อไป เช่น กะทู้ กะตะ กะรน และถลาง (ในบางจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง) ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อในภูเก็ตหมดลงในที่สุด.-สำนักข่าวไทย