กรุงเทพฯ 5 เม.ย. – เลขาฯ คปภ. ถกนายกสมาคมตัวแทนฯ และนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เร่งออกกติกาการเสนอขายประกันฉบับเฉพาะกิจ เปิดช่องการขายแบบ Digital Face to Face ช่วงโควิด-19 ระบาด
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เห็นชอบประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขาย กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และธนาคาร ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 โดยให้อำนาจสำนักงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ ให้แตกต่างจากประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามแล้ว
นายสุทธิพล กล่าวว่า เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติประกอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ คปภ.จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ โดยมีนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เลขาธิการสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และนายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินเข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกประกาศลูกเป็นการเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคนกลางประกันภัย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย ในการหารือดังกล่าว คปภ.ได้รับทราบสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะต่าง ๆ และร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยหาแนวทางการดำเนินงานในสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
เลขาฯ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนสนใจทำประกันภัยมาก แต่ผู้ขายและผู้ซื้อไม่สามารถเจอกันได้โดยตรง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก จึงจำเป็นต้องปรับกติกาที่ใช้ในปัจจุบันให้มีความยืดหยุ่น และนำมาใช้เป็นการชั่วคราวระหว่างการแพร่ระบาด โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยดำเนินการ แต่เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุด จึงขอความร่วมมือสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินศึกษากรอบแนวทางตามร่างกติกาชั่วคราวนี้ พร้อมรวบรวมสภาพปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงกติกาใหม่ให้มีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ
ด้านนางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่า ได้มีการหารือร่วมกับสมาชิกแล้ว เห็นด้วยว่าขณะนี้ต้องการให้มีการอนุโลมเรื่องของการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประชาชนผู้ซื้อประกันภัยสามารถนำส่งเอกสารการทำประกันชีวิตทางออนไลน์ ได้แก่ Line หรือ E-mail หรือใช้ platform โดยแนบลายมือชื่อในการยืนยันการทำประกันชีวิตและนำส่งเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ซื้อประกันภัย เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน โดยบริษัทนำส่งหลักฐานการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้เอาประกันภัยเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจะช่วยให้มีช่องทางการเสนอขายและประชาชนผู้ซื้อก็สามารถที่จะยืนยันตัวตนได้
ส่วนนายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณ คปภ.ที่ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาปัญหาแก่ประชาชนและคนกลางประกันภัย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ประกอบด้วย สมาชิกที่เป็นตัวแทนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งใช้การเสนอขายหลายช่องทาง เช่น ช่องทางโทรศัพท์ ช่องทางออนไลน์ ช่องทางธนาคาร ไปรษณีย์ หรือ Face to Face จึงอาจมีความแตกต่างและหลากหลาย ประเด็นปัญหาจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อรวบรวมสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานจริงให้ครบถ้วน ทางสมาคมฯ จะขอหารือร่วมกับสมาชิก เพื่อนำเสนอ คปภ.และร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติตามประกาศ คปภ.ฯ โดยเร่งด่วนต่อไป
นางนภัสนันท์ พรรณนิภา เลขาธิการสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการเสนอขายผ่านช่องทางต่าง ๆ สำหรับผู้เอาประกันภัยรายใหญ่อาจไม่มีปัญหา แต่ในส่วนผู้เอาประกันภัยรายย่อยที่ไม่มีอุปกรณ์ เช่น เครื่องพิมพ์ ก็จะเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม อาจเลือกใช้ช่องทางการยืนยันการทำประกันผ่านทาง Line หรือ E-mail ทั้งนี้ เพื่อให้การรวบรวมสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะเป็นไปโดยครบถ้วน ทางสมาคมฯ จะขอหารือร่วมกับสมาชิกอีกรอบ เพื่อนำเสนอ คปภ. ต่อไป
“มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงกติกาการกำกับดูแลในส่วนของการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการประชาชน โดยประกาศที่จะใช้ปรับปรุงนี้จะปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ใช้ในประกาศปัจจุบันเรื่องการขายแบบ Face to Face โดยขยายความการขายแบบนี้เพื่อให้การขายโดยอาศัยเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการขายโดยช่องทาง Face to Face ได้ด้วยหรืออาจเรียกว่า “ประกาศการขายประกันฉบับ “Digital Face to Face” โดยประกาศการขายฉบับใหม่นี้จะใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้เท่านั้น หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วก็จะประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อประมวลข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อนที่จะออกประกาศเฉพาะกิจนี้โดยเร็ว เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่นำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย