ขอนแก่น 3 เม.ย. – อาจารย์วิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เร่งสร้างเครื่องต้นแบบฟังเสียงปอดคนไข้จากระยะไกล ทั้งแบบสายและไร้สาย ที่สามารถตรวจคนไข้ผ่านไลน์ Messenger เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และแก้ปัญหาการขาดแคลนชุดป้องกันเชื้อโรค หรือ PPE โดยใช้ต้นทุนเพียงหลักร้อยเท่านั้น
บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 การป้องกันให้นักรบชุดขาวห่างไกลจากเชื้อโรค จึงเป็นเรื่องสำคัญ ปลายสัปดาห์ก่อน แพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งโจทย์ด่วนมายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ 2 ดอกเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จึงช่วยกันสร้างเครื่องต้นแบบฟังเสียงปอดคนไข้จากระยะไกล ซึ่งปอดเป็นอวัยวะสำคัญที่โควิด-19 โจมตี ต้องรีบวินิจฉัยและรักษา โดยการฟังเสียงปอดเป็นวิธีที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุด
เพียงวันเดียว หลังได้รับโจทย์ อาจารย์ก็ได้ Prototype หรือแบบจำลองที่เชื่อมกับหูฟังทางการแพทย์ ให้คุณหมอได้ทดสอบ แต่เสียงปอดยังไม่ชัด จึงนำกลับมาแก้ไขด้วยการเพิ่มฟิลเตอร์ตัดเสียงรบกวน และขยายสัญญาณให้ดังขึ้น การฟังปอดแบบปกติเสียเวลาสวมถอดชุดป้องกันเชื้อโรค หรือ PPE ราว 20-30 นาที จึงทำให้วินิจฉัยได้ล่าช้า เครื่องต้นแบบฟังเสียงปอดคนไข้จากระยะไกล จึงจะช่วยได้ทั้งการเพิ่มความเร็ว ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย ลดอุปกรณ์รอบเตียงผู้ป่วย และแก้ปัญหา PPE ขาดแคลน
นักวิจัยยังเพิ่มทางเลือกให้คุณหมอ ด้วยการสร้างเครื่องต้นแบบไร้สาย สามารถฟังเสียงปอดผ่านทางวิดีโอคอลโทรศัพท์ ไลน์ หรือ Messenger ได้ เป็นการวินิจฉัยทางไกล หรือ Telemedicine ทางการแพทย์
นวัตกรรมรับมือโควิด-19 มีต้นทุนเพียงหลักร้อย เหลือขั้นตอนปรับเสียงให้ชัดที่สุด บรรจุลงแผ่นวงจรพิมพ์ ก่อนนำไปทดลองประสิทธิภาพในผู้ป่วยจริง เพื่อให้การรับรองทางการแพทย์ต่อไป . -สำนักข่าวไทย