ทำเนียบฯ 3 เม.ย. – ครม.นัดพิเศษรับทราบมาตรการเยียวยาเฟส 3 ทุกกระทรวงเห็นด้วยเกลี่ยงบประมาณเยียวยาโควิด-19 ยอมรับใช้เงินร้อยละ 10 ของจีดีพี ฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วง 6 เดือน ยันไม่กระทบเงินเดือนประจำ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบข้อเสนอจากกระทรวงการคลังออกมาตรการเยียวยาดูแลเศรษฐกิจให้กับทุกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยอมรับว่าต้องดูแลเยียวยาไม่ให้ภาพรวมเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า รัฐบาลจึงต้องขยายไปถึง Non Bank ให้ช่วยเหลือเพิ่มเติมในการลดภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
นายสมคิด ยอมรับว่า การออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พ.ร.ก.การกู้เงินกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาดูแลประชาชน การดูแลเยียวยาเศรษฐกิจ ให้หมุนเวียนเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องใช้เงินทั้งจากงบประมาณ เพื่อเกลี่ยจากหลายกระทรวง สัดส่วนการใช้เงินครั้งนี้ประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการเยียวยาเศรษฐกิจเหมือนกับหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 และหากปัญหาการแพร่ระบาดยังยืดเยื้อรัฐบาลพร้อมออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงต่อไป
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการเยียวยาเฟส 3 มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม รวมถึงสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนขณะนี้ได้รับประโยชน์ ร่วมกันดูแลเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากการออกมาตรการเฟส 1 และ 2 มาแล้ว จึงต้องมีแหล่งทุนมารองรับช่วยเหลือทั้งประชาชน และเอกชนเพิ่มเติมให้เพียงพอ ขณะที่ ครม.ทุกกระทรวงเห็นด้วยกับแนวทางเกลี่ยงบประมาณมาใช้ดูแลปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อหารือกับสำนักงบประมาณ และ ธปท. หากสรุปร่วมกันได้แล้ว เตรียมนำรายละเอียดการกู้เงินเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 7 เมษายนนี้
ทั้งนี้ ยืนยันว่าวงเงินเยียวยาเศรษฐกิจสัดส่วนร้อยละ 10 ของจีดีพี ไม่ใช่เป็นการกู้เงินทั้งหมด เพราะเป็นการใช้เงินจากงบประมาณ หากเกลี่ยจากงบประมาณจำนวนมากจะทำให้กู้เงินน้อยลง และไม่ให้กระทบต่อเงินเดือนประจำ สำหรับมาตรการเฟส 3 ยังมุ่งเน้นดูแลแรงงาน ซึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัด หากต้องการทำงานอยู่กับบ้าน รัฐบาลพร้อมส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจในชนบทเข้มแข็ง.-สำนักข่าวไทย
