ทำเนียบฯ 3 เม.ย.-ครม.เห็นชอบหลักการบรรจุข้าราชการ สธ. 45,242 ตำแหน่ง สร้างความมั่นคงให้ระบบสาธารณสุขไทย อย่างยั่งยืน เป็นกำลังใจให้หมอ พยาบาล สู้โควิด-19 ระยะยาว พร้อมอนุมัติ 7 เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการบรรจุพนักงาน ลูกจ้าง สาธารณสุข เป็นข้าราชการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทย อย่างยั่งยืน และ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ต่อสู้กับโรค covid-19 โดย ครม. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และทำเรื่องเสนอ ครม.อนุมัติ อีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย. เพื่อนำสู่การปฏิบัติโดยเร็ว
ภายหลังที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอวาระขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 45,242 ตำแหน่ง ประกอบด้วยพยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชราช และ นักวิชาการสาธารณสุข หรือ หมอ อนามัย ที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ในการควบคุมโรคต่างจังหวัดและพื้นที่ชนบท และเป็นกำลังสำคัญในการทำระบบ กักตัวโดยรัฐ หรือ State Quarantine
ด้านนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันนี้ (3 เม.ย.)ด้วยตนเอง ซึ่งจะบรรจุเพิ่มเติมจำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน โดยบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นบุคลากรวิชาชีพ อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ซึ่งประเทศควรจะต้องรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ของกลไกราชการ บุคลากรเหล่านี้มีสภาพเป็นเพียงพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ สาธารณสุขใช้เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลมาว่าจ้าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อมีข้อเสนอที่ดีกว่าจากภาคส่วนอื่น ๆ บุคลากรเหล่านี้ก็ต้องไปทำงานในที่ที่มีรายได้มากกว่า ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนในการฝึกฝนทักษะรัฐได้เป็นผู้ลงทุนไว้ เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้เห็นการทุ่มเท เสียสละ และความมุ่งมั่นของบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ที่เข้าไปต่อสู้รักษาป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อคนในชาติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าโรคโควิด-19 นอกจากจะคร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิต แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขมากที่สุดด้วย
“การปรับสถานะให้พวกเขาได้มีความมั่นคงในอาชีพการงาน จะทำให้คุณภาพของงานบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่ค้างคามานาน ต้องใช้อำนาจทางการบริหารเท่านั้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาได้ บุคลากรเหล่านั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะทางเป็นสายอาชีพ ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยคนสายอื่นหรือเครื่องจักรได้ ที่นำเสนอมานี้ไม่ใช่เป็นการมาขออัตราเพิ่ม แต่เป็นการทำให้ระบบมีความสมบูรณ์ ทุกวันนี้เราใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาลจ้างก็เหมือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ ต่อให้ปรับสถานะของเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเขามีรายได้มากเท่ากับการไปทำงานในภาคเอกชน แต่อย่างน้อยคำว่า ข้าราชการ ก็จะทำให้เขามีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของพวกเขา สามารถทดแทนทางเลือกที่จะไปทำงานในภาคส่วนอื่น เนื่องจากมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ” นางสาวไตรศุลี กล่าว
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่นี้เป็นการเตรียมความพร้อมของระบบการสาธารณสุขของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม เมื่อเราผ่านพ้นโควิด-19 นี้ไปได้ เราจะมีบุคลากรสาธารณสุขที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ความพร้อม และศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดเรากำลังสร้างฐานที่มีความมั่นคงทางการสาธารณสุข ที่พร้อมให้การดูแลสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากโควิด-19 คนเหล่านี้จะมีผู้ดูแล รักษา ป้องกันโรค เพื่อประเทศไทยจะได้มีสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีระบบการสาธารณสุขที่เข้มแข็งในลำดับต้น ๆ ของโลกตลอดไป
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าเมื่อข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง 7 เม.ย.นี้ จะสามารถสร้างความมั่นคงให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนมากและเป็นการยกระดับ เสริมรากฐานที่มั่นคงของระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยผลลัพธ์ที่ได้มาคือ สาธารณสุขมีบุคลากรที่เข้มแข็งมากด้วยประสบการณ์และความชำนาญ โรงพยาบาลไม่ต้องนำเงินบำรุงมาจ้างคนที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่ทำงานกันนานหรือไม่ และสามารถนำเงินบำรุงเหล่านี้ไปพัฒนาหน่วยบริการ แก้ไขปัญหาการเงิน ตามภารกิจหลักของโรงพยาบาลได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความพยายามและความทุ่มเทต่าง ๆ ที่ทุกคนใส่ลงไปไม่สูญเปล่า.-สำนักข่าวไทย