กรุงเทพฯ 1 เม.ย.-บอร์ด รฟท. ไฟเขียวลุย ก่อสร้างอุโมงค์ สัญญา 3-2 รถไฟไทย-จีน 4.27 พันล้าน เร่งสรุป EIA ภายใน2 เดือน ยืนยันยันโครงการเดินหน้าตามแผน
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. วันนี้ (1 เม.ย. 2563) ว่า บอร์ด รฟท. มีมติอนุมัติสั่งจ้างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างงานสัญญาที่ 3-2 งานโยธา อุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร วงเงิน 4,279.328 ล้านบาท ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา และเริ่มต้นก่อสร้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกัน บอร์ด รฟท. ยังมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้างงานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า และเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางชื่อ-รังสิต (สัญญาที่ 3A) และช่วงบางชื่อ-ตลิ่งชัน (สัญญาที่ 3B) ของกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรค ซึ่งไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง พร้อมทั้งต้องมีการหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไรก็ตาม บอร์ด รฟท. ให้กลับไปพิจารณาว่า การดำเนินการดังกล่าว จะมีผลกระทบกับการเปิดเดินรถหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าจะขยายระยะเวลาไปถึงเมื่อใด ซึ่งต้องรอผลการพิจารณาอีกครั้งก่อน
นายวรวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า บอร์ด รฟท. ยังมีมติอนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานของการรถไฟฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 11,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินทดแทนหมุนเวียน (Working Cap) โดยเป็นการกู้เงินปกติของการรถไฟฯ นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการและแนวทางการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ และการออกประกาศเชิญชวนจ้างเอกชน เพื่อบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อ ตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอรูปแบบมา โดยบอร์ด รฟท. ได้เสนอให้ไปปรับรูปแบบอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการสรุปรูปแบบ และแนวทางต่อไป
ในส่วนของสถานการณ์การเดินรถไฟให้บริการล่าสุด ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า ตอนนี้ การเดินรถไฟในเส้นทางทางไกลลดลงประมาณ 70-80% ซึ่งในขณะที่ฝ่ายบริหารของการรถไฟฯ ได้มีการพิจารณา พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ในทุกวัน เพื่อปรับลดหรือยกเลิกเดินรถในบางเส้นทาง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะมีการรายงานให้ทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย