กรุงเทพฯ 30 มี.ค. – สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเปิดตัว 13 บลจ. พร้อมขายกองทุน SSF พิเศษ ลดหย่อนภาษีเงินสูงสุด 2 แสนบาท เริ่ม 1 เมษายนนี้ คาดมีเม็ดเงินลงทุนช่วงแรก 6 หมื่นล้านบาท
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ให้วงเงินลงทุนในกองทุน SSF พิเศษสูงสุด 200,000 บาท เพิ่มจากวงเงินลงทุนในกองทุน SSF ที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปกติสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท รวมสูงสุดสำหรับปีภาษี 2563 ไม่เกิน 400,000 บาท กำหนดระยะเวลาลงทุน 3 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไทย ซึ่งขณะนี้มีสมาชิก บลจ. 13 แห่ง พร้อมเปิดขายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ และจะมีทยอยออกมาเพิ่มอีก 6 บลจ. โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในช่วงแรกประมาณ 60,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนยอมรับว่าจากสถานการณ์ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อใด และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งล่าสุดมีการปิดตัวของ 4 กองทุนตราสารหนี้ส่งผลต่อความรู้สึกในการลงทุนของนักลงทุน แต่เชื่อว่ามาตรการเสริมสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยทำให้กองทุนที่เหลือมีสภาพคล่องและบริหารจัดการได้ดีขึ้น ขณะที่การลงทุนใน SSF พิเศษเตรียมเปิดขายวันที่ 1 เมษายนนี้นั้น แนะนักลงทุนพิจารณาความพร้อมของตัวเองก่อน ไม่ต้องเร่งรัดการลงทุน เพราะยังมีเวลาลงทุนถึง 3 เดือน หากพิจารณาจากหุ้นไทยย้อนหลัง 10 ปี แม้เกิดวิกฤติต่าง ๆ หลังสถานการณ์คลี่คลายผลตอบแทนในหุ้นไทยมักกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีเสมอ
สำหรับ 13 บลจ.ที่พร้อมเปิดขายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ได้แก่ บลจ.กรุงไทย, บลจ.กรุงศรี, บลจ.กสิกรไทย, บลจ.ทิสโก้, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.ธนชาต, บลจ.บัวหลวง, บลจ.พรินซิเพิล, บลจ.ภัทร, บลจ.ยูโอบี, บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์, บลจ.เอ็มเอฟซี, บลจ.แอสเซท พลัส
ขณะที่กองทุน SSF วงเงินทั่วไปนั้น บลจ.จะทยอยจัดตั้งกองทุนออกมา โดยจะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายตามความสนใจของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนตั้งแต่วันที่เสนอขายไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีแต่ละปีภาษีรวมกันทุกกองทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
ด้านนายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่จะไม่ถึงขั้นเลวร้าย เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันช่วยบรรเทาผลกระทบภาคการส่งออกที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักประมาณ 77% ของ GDP ปี 2562 ขณะที่รัฐบาลไทยออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีความเข้มงวดมากขึ้น และเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาหุ้นไทยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีตหรือเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ โดยค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอยู่ที่ 11.3 เท่า แต่หากพิจารณาจากสถิติผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย 1 ปี หลังจากเกิดโรคระบาด เช่น SARS, MERS, Ebola เป็นต้น พบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นไทย 1 ปี หลังจากเกิดโรคระบาดปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30% ขณะที่การลงทุนในกองทุนเพื่อการออม SSF นับเป็นจังหวะและโอกาสดีสำหรับการลงทุนเพื่อการออมระยะยาว และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย .- สำนักข่าวไทย