สธ.29 มี.ค. – สธ. เตรียมประชุมมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบ รพ.เอกชนให้ผู้ป่วยกลับบ้านจนแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว แจงสถานการณ์ 4 จังหวัดป่วยโควิดพุ่งคล้าย กทม.แต่ไม่แพร่วงกว้าง ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุดรธานี นครราชสีมา ต้องเร่งแก้ไขใช้มาตรการสอบสวนให้รวดเร็ว ขณะที่ตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ รพ.เอกชน นำเข้าชุดตรวจโควิด-19 ย้ำไม่มีขายออนไลน์ ประชาชนอย่าซื้อมาตรวจเอง
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันนี้ ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เพิ่ม143 คน รวมยอดสะสม 1,388 คน และเสียชีวิตเพิ่ม1 คน รวมยอดเสียชีวิตเป็น 7คน กลับบ้านได้11คน รวมยอดผู้ป่วยกลับบ้านได้แล้ว 111 คน และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,270 คน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ แยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 70 คน ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 คน, กลุ่มสถานบันเทิง 15 คน, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 คน และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 คน
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 43 คน ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 คน, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 คน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 คน และกลุ่มอื่นๆ ตามเกณฑ์เฝ้าระวัง เช่น ปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 5 คน กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 คน
สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มีนาคม 2563 ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 คน มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 คน ใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต กรณีบุคคลากรทางการแพทย์ได้รับการยืนยันติดจากผู้ป่วย จำนวน 6 คน อีก 1 คนไม่ได้ติดผู้ป่วยและรอยืนยันอีก1 คน ต้องดูว่าติดมาจากใคร จึงอยากให้บุคคลากรทางการแพทย์ดูแลสุขภาพเท่าที่จะทำได้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยกระจายตัวไปใน 59 จังหวัด และลักษณะการกระจายต่างกัน ความเข้มข้น ระบบป้องกันโรคจะแตกต่างกันไป สิ่งที่ต่างจังหวัดจะดำเนินการ คือ การเฝ้าระวังคนเดินทางเข้าพื้นที่และให้กักตัว14 วันคล้ายที่กทม.ดำเนินงานการ ส่วนจังหวัดที่ผู้ป่วยน้อยลักษณะการดำเนินการ คือ ตรวจคัดกรองคนไข้ที่เดินทางให้ไวที่สุด สอบสวนโรค เพื่อยุติโรคให้ได้เร็วที่สุด ยุทธศาสตร์สำคัญของกรมควบคุมโรคขณะนี้ คือ ต้องการให้มีจังหวัดปลอดโควิด-19 มากที่สุด จะยิ่งทำให้การควบคุมโรคในจังหวัดใกล้เคียงดำเนินการง่ายขึ้น ส่วนในต่างจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมาก คือ จ.สุรินทร์ อุดรธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา จะต้องดำเนินงานคล้ายกทม.คือ ต้องตรวจคัดกรองโรคให้ได้โดยเร็วและลงไปสอบสวนโรคเร็วที่สุด และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลให้มากขึ้น พร้อมชี้แจงขั้นตอนที่สามารถให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อในลำคอเป็นลบ 2 ครั้ง การให้คนไข้กลับ ยืนยันว่าคือ ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นอีก ส่วนกรณีแม่บ้านสนามมวย ติดเชื้อโควิด-19 และโรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้กลับบ้าน การให้กลับบ้านตั้งแต่อาการยังไม่หมด กรณีนี้ไม่น่าเกิดขึ้น จะต้องมีการประชุมมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่ตรงกันอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า80%ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการน้อย หายได้เอง มีเพียง ไม่ถึง10% มีอาการเยอะและรักษาที่โรงพยาบาล การรับคนอาการน้อยไว้ที่รพ.เพราะลดการแพร่เชื้อ โดยพยายามหาสถานที่พักให้
ส่วนคนไข้ที่ไม่แสดงอาการ จนถึงช่วงติดเชื้อ และหายดี คนที่ไม่มีอาการมีโอกาสแพร่เชื้อ เทียบกับคนที่มีอาการ อยากทำความเข้าใจว่าบุคคลากรที่ออกมาจากรพ.ได้คือกลุ่มคนที่ไม่เสี่ยงออกมาแพร่เชื้อได้ ไม่อยากเห็นสังคมเกิดความแตกแยกของคนในพื้นที่ และเกิดการรังเกียจหรือตีตราผู้ป่วย โรงพยาบาล แยกจากคนไข้รายอื่นที่เข้าโรงพยาบาล โดยแยกหอผู้ป่วยชัดเจน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ชุดทดสอบตรวจโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย. ที่ผ่านมา คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ย้ำว่าเป็นชุดทดสอบที่ผลิตเองไม่ได้สั่งจากต่างประเทศและมีน้ำยาอย่างเพียงพอ สามารถตรวจได้ถึง3,000 คน ต่อวัน มี 60 ห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินจาก กรมวิทย์ และอย.เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชน นำเข้าชุดตรวจโควิด-19 ย้ำว่าการพิจารณาจะเป็นไปอย่างโปร่งใส
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า อย.มีการดำเนินการร่วมกับกรมวิทย์ จะมีการอนุญาตใบนำเข้าจากบริษัทนำเข้า เมื่อเอกสารครบถ้วนอย.จะอนุญาตให้นำเข้า หลังอนุญาตต้องมีการติดตามผลและ ยืนยันประเทศไทยยังไม่มีการนำเข้าชุดตรวจแบบแอนติเจนทดสอบภายใน1ชม.เข้ามาในประเทศไทย และไม่มีการขายในออนไลน์ ไมมีการโฆษณา และขอย้ำว่าประชาชนไม่ต้องซื้อมาตรวจเอง.-สำนักข่าวไทย