กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – บลจ.ไทยพาณิชย์ และ บลจ.กสิกรไทย เผยกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหารยังมีความเสี่ยงต่ำ ย้ำไม่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ พร้อมยืนยันยังเปิดรับคำสั่งซื้อ-ขายหน่วยลงทุน และการชำระเงินค่าขายคืนตามปกติ
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า ภาวะที่ตลาดมีความผันผวนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้สินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลกปรับตัวลดลง จากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ต่างเทขายสินทรัพย์ เพื่อถือครองเงินสดแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ
ซึ่งล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท เข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย นับเป็นมูลค่าที่สูงมากและน่าจะช่วยนำความมั่นคงทางด้านสภาพคล่องสู่ตลาด และทำให้ราคาซื้อขายตราสารหนี้ลดความผันผวนลงอย่างมาก ซึ่งกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.ไทยพาณิชย์มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ยืนยันว่ากองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ บริหารจัดการกองทุนโดยเน้นการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด คัดเลือกลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ระดับ Investment Grade ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ทำให้ทุกกองทุนมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ยืนยันจะไม่มีการปิดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน หรือยืดวันชำระเงินค่าขายคืนแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ที่ระบุว่า กองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.กสิกรไทย มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการดังกล่าวของ ธปท. แต่ขอให้นักลงทุนมั่นใจในการบริหารกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งทุกกองทุนไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ (Default) และมีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้หลากหลายประเภท นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต โดยเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเฉพาะตราสารที่ผู้ออกมีความมั่นคงสูงเท่านั้น ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะพิจารณาลงทุนในเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีความเสี่ยงด้านเครดิตในวงจำกัด
รวมทั้งช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มการถือครองเงินสดให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงหาโอกาสในการลงทุนจากตราสารหนี้คุณภาพดีที่ถูกเทขายออกมาในตลาด อีกทั้งจะปรับลดสัดส่วนหุ้นกู้เอกชนลงเล็กน้อย และเมื่อเงินฝากธนาคารต่างประเทศครบกำหนดอาจจะเปลี่ยนมาลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ .-สำนักข่าวไทย