กพช.มีมติทบทวน FSRU กฟผ.หลังดีมานด์ก๊าซเกือบไม่โต

กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – กพช.สั่งทบทวนแผนเดิมที่ให้ กฟผ.นำเข้า LNG แบบ FSRU 5  ล้านตัน หลังคาดความต้องการชะลอตัว โตเฉลี่ยปีละ 0.1% อนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ส่วนแผนอนุรักษ์ฯ คาดประหยัดเงิน 815,571 ล้านบาท ลดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 4,000 เมกะวัตต์


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วานนี้ (19มี.ค.) เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานสำคัญ 4 แผนที่ได้ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 -2580 (EEP 2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 

1. แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมปี 2580 คงเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ และยังคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดแผน ที่ 56,431 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงแผนเดิม คือ ก๊าซธรรมชาติ 53% พลังงานหมุนเวียน 21%(เดิม 20%) ถ่านหินและลิกไนต์ 11%(เดิม12%) พลังน้ำต่างประเทศ 9% และจากการอนุรักษ์พลังงาน 6% และจะปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแผนการปลดโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลบางโรงให้มีความเหมาะสม เช่น ลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง และเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 69 เมกะวัตต์ การเพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ การปรับแผนโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบออกไปเป็นปี 2565–2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ รวมถึงเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565


2. แผน AEDP 2018 ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากไบโอมีเทน (Bio-methane Gas) แต่ยังคงเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่มีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบปี 2563 – 2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงชีวมวล, ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย, ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน และ Solar Hybrid โดยคงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า  30% ในปี 2580 และยังคงเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์

3. แผน EEP 2018 โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ ภาคบังคับ ภาคส่งเสริมและภาคสนับสนุน โดยการดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย 5 สาขาเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรม 2. ธุรกิจการค้า 3. บ้านอยู่อาศัย 4. เกษตรกรรม และ 5. ขนส่ง ยังคงรักษาระดับเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลง 30% ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมมาตรการด้านวัตกรรมเพื่อต่อยอดและรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และรูปแบบการใช้พลังงาน รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรมเพื่อให้สอดคล้องนโยบาย Energy For All ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ฐานรากอย่างยั่งยืน คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานของประเทศตลอดแผนรวม 54,371 ktoe ประหยัดเงิน 815,571 ล้านบาท ช่วยลดการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2)

4. Gas Plan 2018 ความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.1% แนวโน้มจะใช้เพิ่มขึ้นภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง ทั้งนี้ สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปจาก Gas Plan เดิมโดยก๊าซธรรมชาติในประเทศสามารถผลิตได้ต่อเนื่องหลังจากการประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมตามร่างแผนใหม่ในช่วงปลายแผนอยู่ที่ระดับ 26 ล้านตันต่อปี น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ที่ 34 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 เป็นโครงข่ายท่อบนบก 22 ล้านตันต่อปี และความต้องการภาคใต้ 4 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้อง Gas Plan 2018 และศึกษาทบทวนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาเสนอ กพช.ต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแผน FSRU เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 มอบหมายให้ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเป็นแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยมีกำหนดเสร็จและส่งก๊าซธรรมชาติได้ปี 2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ภายหลัง  รัฐบาลได้เห็นชอบให้สร้างสถานีนำเข้าแอลเอ็นจีแบบเทอร์มินอลแห่งที่ 3 ร่วมทุนระหว่าง กลุ่ม ปตท.และกลุ่มกัลฟ์ ประกอบการชะลอตัวของความต้องการใช้ ทำให้เกิดการทบทวนแผน FSRU .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

burned houses alongside of road in Pacific Palisades

คนดังแห่อพยพออกจากบ้านในแอลเอ หนีไฟป่า

ผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงคนในแวดวงบันเทิงฮอลลีวูดของสหรัฐ อยู่ในกลุ่มประชาชนหลายหมื่นคนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน หนีไฟป่าที่กำลังโหมไหม้เหนือการควบคุมรอบนครลอสแอนเจลิสหรือแอลเอ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

นายกฯไปภูเก็ต

นายกฯ ปฏิบัติภารกิจภูเก็ต ประชุมบูรณาการแก้ปัญหาพื้นที่

นายกฯ ปฏิบัติภารกิจภูเก็ต ประชุมบูรณาการแก้ปัญหาพื้นที่ รองรับการเติบโตด้านท่องเที่ยว ก่อนเปิดงานแสดงเรือนานาชาติ ผลักดันภูเก็ตเป็น Premium Destination และการรองรับกิจกรรม Big Event

ปล่อยตัว “แซม ยุรนันท์” สวมกอดครอบครัว ขอกลับบ้านก่อน

“แซม ยุรนันท์” ได้รับการปล่อยตัวแล้ว สวมกอดครอบครัวด้วยสีหน้ามีความสุข พร้อมขอบคุณสื่อมวลชนที่มาต้อนรับ ขอกลับบ้านก่อน ขอบคุณกระบวนการยุติธรรม