กรุงเทพฯ 17 มี.ค. – สมอ.มอบนโยบาย outsources เร่งตรวจโรงงานแทนให้ได้ตามแผน หลังถ่ายโอนงาน หวั่นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยหลังมอบนโยบายการถ่ายโอนงานให้กับ outsources หรือ third partys ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สมอ.แล้ว เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และบริษัท ทูฟนอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินการถ่ายโอนงานให้เป็นไปตามแผน โดย outsources เหล่านี้จะเข้าไปตรวจประเมินโรงงานแทน สมอ. เพื่อให้การตรวจติดตามผลหลังได้รับใบอนุญาตเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และสามารถควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงยังคงรักษาคุณภาพของสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐถ่ายโอนงานให้กับ outsources เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ สมอ.ได้เริ่มถ่ายโอนงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559
ปัจจุบัน สมอ.ถ่ายโอนงานตรวจสอบรับรองให้ outsources ไปแล้ว 17 หน่วยงาน ครอบคลุมทุกสาขาผลิตภัณฑ์ทั้งมาตรฐานบังคับ และมาตรฐานทั่วไป อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก คอนกรีต ไฟฟ้า ยานยนต์ ยาง สี และโภคภัณฑ์ เป็นต้น กว่า 300 มอก. นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายโอนงานตรวจติดตามผลหลังได้รับใบอนุญาตให้กับ outsources ดำเนินการแล้วกว่า 1,800 ราย
และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่ามี outsources บางหน่วยงานดำเนินการตรวจประเมินโรงงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ สมอ.จึงได้เชิญทุกหน่วยงานเข้าร่วมหารือ เพื่อรับทราบนโยบายและแนวทางในการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาในการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการตรวจประเมินโรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ สมอ.กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผน เพราะหากล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้สินค้าดังกล่าวด้วย
“ขณะนี้ สมอ.มีมาตรฐานที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ outsources ตรวจประเมินโรงงานแทน สมอ. 2,022 มาตรฐาน ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการขออนุญาต มอก.เร็วยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อน และลดภาระ สมอ. ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็วในการขออนุญาต และสามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ” เลขาฯ สมอ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย