สำนักข่าวไทย 15 มี.ค. – โรงพยาบาลดัง ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีสังคมตั้งข้อสงสัยการตรวจ “แมทธิว ดีน” ยืนยันรักษาตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
หลังจากแมทธิว ดีน ได้โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ว่า ป่วยโควิด -19 เพื่อแจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิดต่างๆ ปรากฎว่า ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ทางแมทธิว ไปตรวจนั้น ได้มีการแจ้ง และปฎิบัติตามระเบียบของต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตามเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย ระบุว่าต้องแจ้งแม้จะเป็นเคสสงสัย หรือผลตรวจยังไม่ยืนยันก็ตาม
ล่าสุดวันนี้ ทางโรงพยาบาลพระราม 9 ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง มาตรการคัดกรอง ป้องกันเพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ โดยยืนยันในแถลงการณ์ระบุว่า
“จากกระแสข่าวกรณีนักแสดงชื่อดัง เข้ารับการตรวจ COVID-19 ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า โดยมีข้อสงสัยหลายประการว่าเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563 เวลา 18.30 น. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้มาที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เพื่อมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดงักล่าว โดยหลังจาก การตรวจสอบ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ลงความเห็นว่า การรักษาพยาบาลกรณีนักแสดงชื่อดัง ของโรงพยาบาลพระรามเก้า เป็นไปตามแนวทางทางการปฏิบัติของกรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุขอย่างเคร่งครัดทุกประการ รวมทั้งมีมาตรการคัดกรอง ป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของ ผู้รับบริการโรงพยาบาลพระรามเก้าตาม หลักมาตรฐานสากล”
พร้อมกับชี้แจง กระแสข่าวกรณีนักแสดงชื่อดัง โดยมีข้อสงสัยว่า การรายงานผล COVID-19 เป็นบวก ได้รายงานต่อกรมควบคมุโรคทราบภายใน 3 ชั่วโมง ตามกฎหมายหรือไม่นั้น โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้สรุประยะเวลาการรายงานผล Lab ของนักแสดงคนดังกล่าว ตามรายละเอียดดังนี้
– โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ FAX ผลการตรวจ COVID-19 ผลบวกมาให้ โรงพยาบาลพระรามเก้า ในเวลา 8:35 น.
– ห้อง Lab โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ส่ง Report ผลการตรวจ COVID-19 ผลบวก ให้กับทาง ICN รับทราบ ในเวลา 09:05 น.
– ICN ได้เขียน Report Novelcorona 1 และส่งผลการตรวจ ให้ทาง SAT สถาบันควบคุมและป้องกันโรคเขตเมือง รับทราบ ในเวลา 09:42 น.
– รวมระยะเวลาการรายงานผลทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 7 นาที ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ตามแนวทางของกรมควบคมุโรคกำหนด
สำหรับกรณีการให้คนไข้กลับบ้านนั้น เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ ไม่เข้าเกณฑ์ผู้มีความเสี่ยงสูงตามแนวทางการปฏิบัติของกรมควบคุมโรค และไม่มีอาการเข้าเกณฑ์ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล (Admission Criteria) ดังนั้น เมื่อทำการตรวจรักษาเสร็จแล้ว จึงให้ผู้ป่วยกลับไปรอฟังผลที่บ้าน พร้อมกับให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว . – สำนักข่าวไทย