นนทบุรี 10 มี.ค. – ปลัดพาณิชย์ชี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกส่วนงานเอาจริง งัดกฎหมายเอาผิดผู้กระทำการตุนหน้ากากอนามัยหวังรวยทางรัด ย้ำทุกคดีตำรวจสอบต่อทั้งสิ้น พาณิชย์จัดหน้ากากให้พอเพียงพอที่มีอยู่แนะประชาชนควรหาหน้ากากทางเลือกด้วย
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามมาตรา 25, 28, 29 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 107 ราย แบ่งเป็น การจับกุมในเขต กทม.จำนวน 77 ราย และในต่างจังหวัด 30 ราย
ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นความผิดแต่ละข้อหาจากจำนวนการจับกุม 107 รายดังกล่าว พบว่าเป็นการจับกุมข้อหาขายเกินราคาควบคุมจำนวน 4 ราย ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำนวน 28 รายการ และข้อหาขายแพงเกินสมควรจำนวน 75 ราย ในจำนวนนี้เป็นการกระทำความผิดจากการขายผ่านออนไลน์จำนวน 15 ราย และมีผู้ถูกจับกุม
สำหรับในเขต กทม.และต่างจังหวัด โดยผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในข้อหาขายเกินราคาควบคุม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ข้อหาขายแพงเกินสมควรจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท และหากเป็นผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายก็ต้องแจ้งปริมาณการถือครองสินค้าต่อกรมการค้าภายใน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากพบเห็นผู้กระทำผิดโปรดแจ้งข้อมูลและหลักฐานมายังสายด่วน 1569 หรือสื่อโซเชียลของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์
“ถือว่าโทษของกระทรวงพาณิชย์หนัก หากกระทำผิดทั้ง 2 มาตรา ดังกล่าวจำคุกรวม 12 ปี ปรับ 1.2 ล้านบาท จึงฝากเตือนผู้ที่จะกระทำผิดคิดให้ดี นอกจากนี้ ยังจะเจอกฎหมายอื่นๆอีก ถือว่าไม่คุ้มที่จะกระความผิดเอารัดเอาเปรียบ ยิ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกหน่วยงานให้เล่นงานทางกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและยอมความไม่ได้ ดังนั้น ขอเตือนพวกที่จะกระทำเอารัดเอาเปรียบขายหน้ากากอนามัยเกินกว่ากำหนดอย่าได้กระทำที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทุกคดีทั้งเล็กหรือเกี่ยวข้องกับใครจะเป็นผู้ที่เป็นคนสนิทกับนักการเมืองหรือเอกชนรายใด ทุกเรื่องทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีไปดำเนินการในเชิงลึกทุกรายแล้ว”นายบุณยฤทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการหน้ากากอนามัยที่มีอยู่ต่อวัน 1.2 ล้านชิ้นไปอย่างรัดกุมและพยายามจัดสรรให้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะทางการแพทย์จะต้องได้รับไปอย่างเต็มที แต่เนื่องจากความต้องการของประชาชนมีเข้ามามากเกินกว่ากำลังการผลิตทั้ง 11 โรงงานจะผลิตได้ ทำให้การจัดสรรหน้ากากอนามัยในช่วงที่ผ่านมาติดขัดอยู่บ้าง และหากประชาชนหันมาใช้หน้ากากทางเลือกโดยเฉพาะหน้ากากผ้ากันเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าปริมาณหน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์จะมีอย่างเพียงพอต่อความต้องการทางการแพทย์ได้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จะมีหลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยสาเหตุที่หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ โรงงานทั้ง 11 โรงแอบไปส่งออกหรือไปขายต่อให้ผู้อื่นเพื่อไปทำตลาดเองหรือไม่นั้น เชื่อว่าคงทำได้ยาก หลังจากดึงหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมและอีกหลายประกาศที่ออกมา ทั้ง 11 โรงงานจะต้องแจ้งทั้งปริมาณการผลิตและสตอกที่มีอยู่ให้กรมการค้าภายในได้ทราบทุกวัน จึงเชื่อว่าจะไม่มีโรงงานใดกระทำการฝ่าฝืนได้ แต่หากมีโรงงานใดปกปิดรายงานเป็นเท็จก็ถือกระทำความผิดต่อกฎหมายเช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจากประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ในส่วนของหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์เกือบทุกชิ้นที่ผลิตได้จะจัดสรรตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกันไว้ และไม่มีผู้ส่งออกรายไหนได้ส่งออกหน้ากากอนามัยชนิดนี้แม้แต่ชิ้นเดียว ยกเว้น หน้ากากเฉพาะทางที่ใช้ในอุตสาหกรรมและหน้ากากโฟมที่มียอดขอส่งออกมาที่กระทรวงพาณิชย์ 60 ล้านชิ้น แต่กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วอนุมัติให้ส่งออกได้เฉพาะสตอกค้างเก่าจากปีที่แล้วเพียง 10 ล้านชิ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยที่คนไทยไม่ได้ใช้ทั้งสิ้น ขณะที่ยอดที่เหลือของปีนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาตให้ส่งออกทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภทด้วยกัน
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังพูดคุยกับโรงงานที่ผลิตผ้าอ้อมหรือเอกชนต่างๆที่สนใจจะหันมาผลิตหน้ากากอนามัยชนิดที่ใช้ทางการแพทย์อยู่หลายราย โดยเอกชนต่างๆกำลังศึกษาในรายละเอียดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้ก็เชื่อว่าน่าจะมีปริมาณหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพิ่มขึ้น โดยเอกชนขอเวลาศึกษาเรื่องนี้ก่อนและจะแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย