นนทบุรี 5 มี.ค. – กกร.กำหนดราคาขายสูงสุดหน้ากากอนามัยตั้องชิ้นละ 2.50 บาท ขายเกินเจอโทษหนัก ย้ำทุกฝ่ายเห็นตรงกัน หน้ากาก 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน แบ่งสาธารณสุขจัดสรรให้โรงพยาบาลทุกสังกัด 7 แสนชิ้น อีก 5 แสนชิ้น พาณิชย์กระจายผ่านรถโมบาย 111 คันทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อและร้านธงฟ้า พร้อมสั่งคุมเข้มเจลล้างมือห้ามปรับก่อนได้รับอนุญาต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประขุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ครั้งที่ 3 มีมติแนวทางการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยในตลาดที่มีราคาแพงอยู่ในขณะนี้ โดยได้ลงนามในประกาศ กกร.เพิ่มเติม ราคาจำหน่ายสูงสุดหน้ากากอนามัยแบบสีเขียวต้องจำหน่ายไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท เฉพาะที่ผลิตได้ในประเทศเท่านั้น แต่ยกเว้นให้หน้ากากอนามัยที่เป็นสตอกเก่าและมีการจำหน่ายจากโรงงานไปยังผู้จำหน่ายต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งให้เวลาเคลียร์สตอกให้หมดภายใน 3 วัน และตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ต้องขายราคาชิ้นละ 2.50 บาท ดังนั้น หากขายเกินสูงสุดที่กำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย คือ จำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยนำเข้ากำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแสดงต้นทุนนำเข้าต่อกรมการค้าภายใน โดยบวกค่าบริหารจัดการ เช่น ต้นทุนค่าบริหาร การขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และค่าตอบแทน รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 60 จากต้นทุนนำเข้า ซึ่งราคาจำหน่ายสูงสุดจะไม่รวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่เป็นหน้ากากทางเลือกรัฐบาลกำลังส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิต เป็นต้น
สำหรับแผนการกระจายหน้ากากอนามัย ได้มีการสรุปตัวเลขการผลิตที่ชัดเจนอีกครั้ง พบว่า โรงงานที่มีอยู่ 11 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านชิ้น ลดลงจากเดิม 1.35 ล้านชิ้น เพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ หรือยอดรวมเดือนละ 36 ล้านชิ้น จะมีการกระจายโดยศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยโดยกรมการค้าภายใน และอีก 700,000 ชิ้น กระทรวงสาธารณสุขจะนำไปกระจายไปยังโรงพยาบาล สถานพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนอีก 500,000 ชิ้น กรมการค้าภายในจะเป็นผู้กระจายไปยังประชากร 60 ล้านคน ผ่านช่องทางที่มีอยู่เดิมและรถโมบายธงฟ้า
อย่างไรก็ตาม รถโมบายธงฟ้า 111 คัน แยกเป็นกรุงเทพฯ 21 คัน และต่างจังหวัด 90 คัน มีหน้ากากอนามัยไม่ต่ำกว่า 300,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งกระจายในกรุงเทพฯ 5,000-10,000 ชิ้นต่อวัน และต่างจังหวัด 3,000-5,300 ชิ้นต่อวัน และอีก 200,000 ชิ้น จะกระจายผ่านช่องทางเดิม คือ ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และร้านธงฟ้า โดยศูนย์ฯ จะมีการประชุมติดตามดูทุกวัน เพื่อดูว่าจุดไหนมีความต้องการมากน้อยแค่ไหนจะได้ปรับตรงตามความต้องการแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดให้เจลล้างมือเป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง หากขอจะยังไม่ให้มีการปรับราคาขึ้นตอนนี้แต่อย่างใด
“การดูแลการกักตุนกำหนดพฤติกรรมไว้ คือ 1.การเก็บสินค้าไว้ในสถานที่อื่นตามที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ 2.ไม่นำหน้ากากที่มีเพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายตามปกติ 3.ปฏิเสธการจำหน่าย 4.ประวิงการจำหน่าย และ 5.การส่งมอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถือว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกักตุนสินค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายจุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ การออกประกาศกำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนดจะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน เพื่อป้องกันการกักตุน ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นมาตรการออกมา เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ที่เก็บหน้ากากอนามัยที่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะการครอบครองเพื่อใช้งาน เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีการติดตามสถานการณ์แต่จะติดตามดูใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือเห็นว่ามีปัญหา ก็จะมีการออกคำสั่ง กกร. เพื่อบังคับใช้ต่อไป
สำหรับการส่งออกหน้ากากอนามัยนั้น จะไม่มีการอนุมติให้มีการส่งออกโดยเด็ดขาด เนื่องจากหน้ากากที่ผลิตได้ในประเทศทั้ง 36 ล้านชิ้น ก็ไม่เพียงพอกับการใช้ในประเทศอยู่แล้ว แต่หากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติจะมีการเปลี่ยนแปลง และ 2-3 วันที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งคนประจำโรงงานทั้ง 11 โรงแล้ว รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำแต่ละโรงงานด้วย เพื่อรายงานจำนวนผลผลิตจริง และจัดการการกระจายสินค้าไปยังส่วนอื่น ๆ และสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตหน้ากากอนามัย มีแนวโน้มนำเข้าได้ยากขึ้น แต่ยังพอเป็นไปได้คือจากอินโดนีเซียแต่ก็จะมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสาน เพื่อหาแหล่งผลิตวัตถุดิบแล้ว แม้จะมีต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มภาครัฐพร้อมดูแลอย่างเต็มที.-สำนักข่าวไทย