กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – กรมประมงระบุไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประมง 600 – 1,000 ล้านบาท เหตุจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง การส่งออกชะลอตัว เร่งช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการเปิดตลาดสินค้าประมงให้คนไทยเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะกุ้งเกรดดีราคาย่อมเยา
นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในจีนและขยายวงกว้างไปอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก โดยธุรกิจภาคการประมงตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นชะลอตัว เนื่องจากมีความยากลำบากในการขนส่งมากขึ้น โดยเฉพาะกุ้งแบบมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็นที่ต้องขนส่งอย่างรวดเร็วและต้องใช้บริการการขนส่งทางอากาศเท่านั้น แต่จากการประกาศยกเลิก หรือปรับลดเที่ยวบิน ทำให้ปริมาณการส่งออกกุ้งน้อยลงอย่างมาก
ทั้งนี้ ปี 2562 การส่งออกกุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็น (กุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ) ไปจีนมากถึง 10,240 ตัน มูลค่า 2,217 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของสินค้าประมงทั้งหมดที่ส่งออกไปจีน หลังจากเกิดเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้ากุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็นเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563 จะลดลงร้อยละ 50 – 95 เหลือเพียง 1,500 – 2,900 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 340 – 650 ล้านบาท สำหรับสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปและปลาแช่เย็น-แช่แข็งได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะมีการส่งออกเพียงร้อยละ 6
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศลดลง เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมรับประทานอาหารทะเล นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีกำลังซื้อมากจะใช้จ่ายเงินประมาณ 5,290 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 19 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ที่มา : สำนักสถิติแห่งชาติ) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคสัตว์น้ำของนักท่องเที่ยวร้อยละ 2.5 – 5 จึงคาดการณ์ว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำถึง 264.5 – 529 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 604.5 – 1,179 ล้านบาท
นายบรรจง กล่าวว่า กรมประมงวางมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคสัตว์น้ำของกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ โดยร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์จัดกิจกรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคกุ้งทะเลในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกด้วย อีกทั้งจะประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการส่งออก โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังจีนให้ชะลอการเลี้ยงไปก่อนจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายและเร่งปรับตัวหาทางรอด โดยแปรรูปสินค้าหรือหาตลาดใหม่ทดแทน
ล่าสุดช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำภาคใต้ ด้วยการเปิดสั่งจองกุ้งสด ไร้สารตกค้าง เกรดส่งออกประเทศจีนทางออนไลน์ในราคาย่อมเยา โดยกุ้งกุลาดำขนาด 30 – 40 ตัว/กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 250 บาทและกุ้งกุลาดำขนาด 40 – 50 ตัว/กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งกรมประมงจัดกิจกรรมดังกล่าวจะมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ ผู้บริโภคสามารถร่วมช่วยเหลือเกษตรกรโดยการสั่งจองสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ https://coastalaqua.fisheries.go.th/
preorder/public/t/กุ้งทะเลได้จนถึงวันที่ 1 มีนาคมและรับสินค้าที่กองวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง (ติด BTS เกษตรศาสตร์) ได้ในวันที่ 2 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 12.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center กรมประมง โทรศัพท์ 0 2562 0569.-สำนักข่าวไทย