กรุงเทพฯ 21 ก.พ. – กรมวิชาการเกษตรส่งเสริมเกษตรกรใช้เครื่องจักรกล แก้ปัญหาการเผาไร่อ้อย ชี้ช่วยให้เก็บเกี่ยวอ้อยง่าย ราคาดีกว่าอ้อยไฟไหม้
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเผาใบและเศษซากอ้อยยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางอากาศเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรจึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาการเผาอ้อย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตอ้อย
ล่าสุดศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน คิดค้นรถตัดอ้อยสดชนิดตัดเป็นลำ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือรถแทรกเตอร์ขนาด 70 แรงม้า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถตัดอ้อย และชุดตัดอ้อยพร้อมถาดรับลำอ้อย เมื่อตัดอ้อยได้เต็มถาดจะเทอ้อยกองแล้วใช้รถคีบอ้อยใส่รถบรรทุก ซึ่งรถตัดอ้อยนี้มีกลไกไม่ซับซ้อน และมีราคาที่เกษตรกรไทยสามารถซื้อใช้เองได้ กรณีชาวไร่ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อย แนะนำให้มีการสางใบอ้อยแห้ง เพื่อตัดอ้อยสดได้เร็วขึ้น ซึ่งใบอ้อยคลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นให้กับดิน ทำให้อ้อยยังเจริญเติบโตถึงแม้ว่าจะหมดฤดูฝน ซึ่งเครื่องสางใบอ้อยและมีดสางใบจะช่วยให้การสางใบอ้อยทำได้รวดเร็วและประหยัดแรงงาน
ทั้งนี้ มีผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการสางใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยสดช่วยให้คนงานตัดอ้อยสามารถตัดอ้อยสดได้เร็วขึ้นและคุ้มค่าต่อการลงทุน นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวอ้อยสดจะมีใบอ้อยคลุมดินที่อาจเป็นเชื้อเพลิงไหม้อ้อยตอภายหลังได้ ดังนั้น หลังเก็บเกี่ยวอ้อยชาวไร่จึงเผาใบอ้อย เพื่อกำจัดเชื้อเพลิงก่อนที่อ้อยจะงอก ทำให้ดินสูญสียความชื้น อ้อยตอแคระแกร็น และมีหนอนกอเข้าทำลายมากขึ้น จึงแนะนำให้เกษตรกรใช้เครื่องสับใบอ้อยระหว่างแถวอ้อยตอ สับใบอ้อยลงดินเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ใบอ้อยที่คลุมดิน
“การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรจะทำให้เกิดความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต และลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0-3552-8255” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว.-สำนักข่าวไทย