กรุงเทพฯ 21 ก.พ.- กลุ่มผู้เสียหายคดีไนซ์รีวิว ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ชี้แจงกรณีปล่อยตัวผู้ต้องหา อัยการแจง ดีเอสไอส่งสำนวนท่ีให้สอบเพิ่มกลับมาไม่ทันฝากขัง 7 ผัด จำเป็นต้องปล่อยตัวไปตามกฎหมาย
กลุ่มผู้เสียหายคดีไนซ์รีวิว เกือบ 30 คน เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กับอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ขอให้ชี้แจงกรณีการปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดี คือ นายณรงค์ อินลี เจ้าของบริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด หรือเจ้าของไนซ์รีวิว ที่หลอกลวงผู้เสียหายชวนลงทุนโดยเปิดเว็บไซต์และเฟซบุ๊กไนซ์รีวิว ให้ผู้เสียหายกดไลค์กดแชร์โปรโมทสินค้า
คดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 350 แฟ้ม หรือประมาณ 121,000 แผ่น ไปส่งให้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งยังเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับความผิดฐานฟอกเงินด้วย แต่ภายหลังกลับได้รับการปล่อยตัวไป โดยไม่มีหลักทรัพย์ประกัน ทั้งที่คดีนี้มีมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท และยังไม่มีการส่งฟ้องคดีนี้ ผู้เสียหายจึงกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม หลังผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายกิตติศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด คณะทำงานเจ้าของสำนวนคดีได้ชี้แจงว่า หลังจากดีเอสไอส่งสํานวนให้อัยการสูงสุด พนักงานอัยการได้ตรวจดูสำนวนแล้ว เห็นว่า สำนวนการสอบสวนของดีเอสไอที่ส่งมายังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อัยการจึงจำเป็นต้องส่งคืนสำนวนให้กับดีเอสไอ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง ดีเอสไอ ส่งสำนวนแก้ไขกลับมาให้ไม่ทัน ก่อนที่ผู้ต้องหาจะครบกำหนดฝากขัง 7 ฝาก ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไปตามกฎหมาย เพราะหมดอำนาจการควบคุมตัว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
สำหรับประเด็นที่อัยการ เห็นว่าดีเอสไอต้องไปแก้ไขสำนวน มีถึง 7 ประเด็นประกอบด้วย
1.ให้สอบผู้เสียหายเพิ่มเติมอีกกว่า 1,000 ปาก ที่ยังไม่มีการสอบสวนเลยเนื่องจากเป็นผู้เสียหายที่เข้าร้องทุกข์ภายหลัง โดยให้ตอบทั้งประเด็นพฤติกรรมการถูกหลอกและมูลค่าความเสียหาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุในสำนวนเพื่อให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
2.ให้นำผู้เสียหายที่ไปแจ้งความกับตำรวจภายหลังดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษมารวมในสำนวนเดียวกัน
3.ให้ DSI ตรวจสอบเว็บไซต์ไนซ์รีวิว ว่าเปิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะหากเป็นเว็บที่เปิดขึ้นในต่างประเทศ จะกลายเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน
4.ในสำนวนยังพบพฤติกรรมของผู้เสียหายบางรายซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้รวมอยู่ด้วย จึงให้ดีเอสไอไปแก้ไขให้ถูกต้อง
5.ให้ใส่รายละเอียดการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไร
6.ให้ระบุพฤติการณ์ว่าผู้กระทำผิดข้อหาฟอกเงินมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอย่างไร
7.ให้สรุปสำนวนคดีใหม่
ส่วนหลังจากนี้ หากดีเอสไอทำสำนวนแล้วเสร็จ และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ดีเอสไอก็จะเป็นผู้ไปนำตัวผู้ต้องหากลับมาฟ้องคดีต่อไป
ขณะที่สำนวนการยึดอายัดทรัพย์สินของ ปปง. ซึ่งมีมติอายัดทรัพย์สินไว้แล้วกว่า 200 ล้านบาท ก็จะต้องส่งสำนวนให้อัยการภายใน 90 วันหลังอายัด เพื่อให้อัยการไปฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้ศาลมีคำสั่งเฉลี่ยทรัพย์คืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้เหลืออีกประมาณ 20 วันเศษ อัยการเชื่อว่าสำนวนของ ปปง. จะสามารถส่งได้ทันตามกำหนดอย่างแน่นอน เพราะมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าสำนวนคดีอาญา ดังนั้นทรัพย์สินที่อายัดไว้ จะไม่มีการเพิกถอนการอายัด ซ้ำรอยสำนวนคดีอาญาแน่นอน .-สำนักข่าวไทย